เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. บุกร้อง กกต.ชี้ เอ็มโอยู 8 พรรคร่วมรัฐบาล อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง พร้อมส่งเอกสารเพิ่มเติม ปมถือหุ้นสื่อ ITV ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล 

วันที่ 24 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกต.ให้ตรวจสอบกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง รวมทั้งให้ตรวจสอบกรณี การเซ็นเอ็มโอยูของทั้ง
8 พรรคร่วมรัฐบาลด้วย ที่เซ็นกันไปในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งการเดินทางมาในวันนี้ นายเรืองไกร ใส่กางเกงขาสั้นสีส้มและเสื้อเชิ้ตสีสันฉูดฉาดเหมือนเดิม

นายเรืองไกร กล่าวว่า การมา กกต.ในวันนี้ ตัวเองมาส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีการถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ คุณพิธา ซึ่งวันนี้ได้เอาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นย้อนหลัง 18 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2566 ให้ กกต. รวมทั้งงบกำไรและขาดทุนในเว็บรายงานประจำปีของไอทีวี เพื่อให้ กกต.เห็นว่า บริษัท ไอทีวี เป็นบริษัทจำกัด มหาชน จริง ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จะเน้นไปที่กฎหมายแพ่ง ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด ปี 2535 เพื่อให้ ก.ก.ต.เห็นว่า การที่ คุณพิธา มีชื่อ-นามสกุล จากพระราชบัญญัติดังกล่าวถือว่าถูกต้อง นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังบอกว่า เอกสารที่ตัวเองเอามา ไม่ได้มีผู้อยู่เบื้องหลัง เอกสารที่เอามาเป็นหลักฐานตัวเอง ใช้เงินส่วนตัวจ่ายให้กับกรมธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นการได้มาอย่างถูกต้อง

...

ต่อมา เรื่องการเซ็นเอ็มโอยูของพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่มีการเซ็นเอ็มโอยูทั้งหมด 4 หน้า วาระ 23 ข้อ โดยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค พอตัวเองเห็นลายเซ็นก็คิดว่าการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า “ ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกของพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกขาดอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

โดยเรื่องนี้ นายเรืองไกร บอกว่า เป็นเพียงการตั้งคำถามส่วนตัว หาก กกต.ตรวจสอบแล้ว ไม่พบมูลความผิดตามที่ตัวเองสงสัย ตัวเองก็เคารพในสิ่งที่ กกต.พิจารณา แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเข้าข่ายการกระทำความผิด และเห็นสมควรให้มีการยุบพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคนี้ เนื่องจากใครเป็นผู้เซ็นเอกสารดังกล่าว ก็ถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยทั้งสิ้น อีกทั้งเอกสารเอ็มโอยูฉบับนี้ ถูกเซ็นด้วยหัวหน้าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค จึงถือได้ว่าเป็นความผิดร่วมกัน

ขณะที่วันนี้ระหว่างที่ คุณเรืองไกร มายื่นหนังสือ ขาประจำอย่าง นายวรัญชัย โชคชนะ ก็ได้เดินทางมาพร้อมกับกระดาษเขียนข้อความระบุว่า “ตนเองสนับสนุน คุณพิธา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของประชาชน” และเปรียบเทียบเหตุการณ์ว่า “อย่าให้เหมือนสมัครทำกับข้าว”.