อุตสาหกรรมอวกาศถือเป็น 1 ในอุตสาหกรรมใหม่ New S-curve ของประเทศไทย แม้ไม่มีพรรคการเมืองไหนหยิบเรื่องนี้มาหาเสียงหรือนำเสนอโรดแม็ปอย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งอาจเป็นเพราะเนื้อหาเข้าใจยาก ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผมเชื่อว่าหลายพรรคมีบุคลากรที่ศึกษาเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว และรัฐบาลใหม่ก็คงต้องเร่งผลักดันเพื่อฉกฉวยโอกาสให้ทันกระแสโลก

ช่วงโควิดระบาด เกือบทุกอุตสาหกรรมล้วนได้รับผลกระทบ แต่ เศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อปี 2565 มูลค่าเศรษฐกิจอวกาศขยับขึ้นไปแตะ 4.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 16 ล้านล้านบาท และกำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

ดาวเทียมไทยคม 4
ดาวเทียมไทยคม 4

เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจอวกาศ คนส่วนใหญ่จะนึกถึง SpaceX ของอีลอน มัสก์ แต่รู้ไหมครับว่า บริษัทเอกชนของไทยก็มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก นั่นคือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถ้าเอ่ยชื่อไทยคมกับแวดวงดาวเทียมในต่างประเทศ ใครๆยกนิ้วให้ แต่กับคนไทยด้วยกันยังมีบางส่วนที่ไม่ร่วมชื่นชม เป็นเพราะพิษการเมืองแท้ๆ ทั้งๆที่ คุณทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นไทยคมไปนานแล้ว แต่ด้วยอารมณ์ทางการเมืองทำให้บางคนไม่ยอมลบภาพจำในอดีต

...

ผลงานชิ้นเอกของไทยคมที่ทำให้ทั้งโลกเซอร์ไพรส์คือ ดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ส่งสัญญาณบรอดแบนด์ สื่อสารได้ 2 ทาง ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2548 ยุคนั้นดาวเทียมใช้ส่งสัญญาณบรอดแคสต์สำหรับธุรกิจทีวีเป็นหลัก การมีดาวเทียมไทยคม 4 จึงเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมดาวเทียมระดับโลก เปลี่ยนจากบรอดแคสต์มาเป็นบรอดแบนด์ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย อินเดีย และอีกหลายประเทศ ก็มาถอดแบบทำตาม

ทุกวันนี้ไทยคม ขยายธุรกิจไปขายสิบกว่าประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย แอฟริกา ยุโรป ประเทศเหล่านี้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีดาวเทียมของตัวเอง แต่ก็ยังใช้บริการดาวเทียมไทยคมอยู่ แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ และไทยคมสร้างชื่อเสียงมานานจนสามารถ ต่อยอดธุรกิจเป็นพาร์ตเนอร์ได้กับบริษัทต่างๆทั่วโลก ล่าสุดจับมือกับ บริษัทโกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) บริษัทผู้ให้บริการระดับโลกด้านสื่อสารผ่านดาวเทียมและโซลูชัน IoT จากสหรัฐฯ ร่วมทำธุรกิจให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit Satellite หรือดาวเทียม LEO

จรวดยิงดาวเทียมไทยคม
จรวดยิงดาวเทียมไทยคม

ในงาน Satellite 2023 เมื่อเดือน มี.ค. ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. คุณปฐมภพ สุวรรณศิริ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยคม ได้รับเชิญเป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ Can Satellites Fulfill the Increasing, Insatiable Demand to Extend 3G, 4G LTE, & 5G Beyond Cities? ร่วมกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากธุรกิจดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำระดับโลกอีกหลายแห่ง คุณปฐมภพเป็น วิทยากรเพียงคนเดียวในอาเซียน ที่ได้รับเชิญในงานนี้

ไทยไม่ได้น้อยหน้าใครในด้านองค์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศ ตอนนี้จึงเป็นโอกาสทองที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศอย่างจริงจัง หากออกสตาร์ตตอนนี้ถือว่าไทยเริ่มพร้อมกับประเทศอื่น ไม่ได้เสียเปรียบ ถ้าภาครัฐและเอกชนทุกรายมาร่วมมือกัน จะสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ และสร้างความองค์ความรู้ได้อีกมาก

เบื้องต้นภาครัฐควรส่งเสริมด้าน 1.การวิจัย 2.การศึกษา เด็กรุ่นใหม่สนใจเรื่องอวกาศมาก มีจินตนาการกว้างไกล ถ้าได้รับการศึกษาที่ตรงจุด มีโอกาสต่อยอดได้หลากหลาย และมีโอกาสเกิดบริษัทด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก 3.การส่งออก เทคโนโลยีอวกาศไม่ได้ขายแค่ประเทศไทย แต่ประยุกต์ขายได้ทั่วโลก นำรายได้จะกลับมาสู่ประเทศไทย 4.มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียม จะทำอย่างไรให้บริษัทไทยสู้กับบริษัทต่างชาติที่จะมาเจาะตลาดไทยได้ และจะสนับสนุนอะไรให้บริษัทไทยขยายธุรกิจสู้กับเจ้าอื่นในต่างประเทศได้

เทคโนโลยีอวกาศขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้น อยู่ที่ว่าเราจะนำสิ่งที่มีในอวกาศมาใช้ประโยชน์อย่างไร ไว้มีโอกาสผมจะเอาตัวอย่างเทคโนโลยีฝีมือคนไทยมาเล่าให้ฟังครับ.

ลมกรด