ปชป.ดัน ระบบขนส่งทางรางเต็มกราฟ 4 เมกะโปรเจกต์ รางทั่วไทย จ่อลงทุนเพิ่มอีก 7 เส้นทาง 2.7 แสนล้าน โว จ่อเร่งรัดสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้-สีส้ม ในกทม.ฟุ้งแผนลงทุน 6.2 แสนล้านขยายระบบทั้งประเทศ
วันที่ 3 พ.ค. 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทีมเศรษฐกิจพรรค โดยนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค และผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งและโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) และนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและทีมเศรษฐกิจพรรคปชป. ร่วมแถลงข่าวในวาระประเทศไทย ครั้งที่ 5 “ปชป. กับนโยบายแก้หนี้ประชาชนและการพัฒนาระบบการเงิน” และ “ปชป.จัดเต็ม ดันระบบรางทั่วไทย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ - ปิดประตู “ประมูลเอื้อเอกชน”
โดยนายสามารถ กล่าวว่า ประเทศไทย มีทำเลยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค แต่ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทย ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยต่อ GDP มีค่าประมาณร้อยละ 14 ในขณะที่ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP เฉลี่ยของทุกประเทศทั่วโลก มีค่าประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ประเทศที่มีระบบรางที่ดี มีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ประมาณร้อยละ 8-9 เหตุที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูง เพราะการขนส่งของเรายังพึ่งพาถนน หรือ รถยนต์เป็นหลัก ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าการขนส่งทางราง จึงถึงเวลาที่เราต้องลดต้นทุนโลจิสติกส์ และต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยระบบราง รถไฟจะเป็นทางเลือกใหม่ของการขนส่ง เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
...
“พรรคปชป.จึงมีนโยบายด้านระบบราง ดังนี้ 1.รถไฟทางคู่ ซึ่งเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของโครงข่ายรถไฟ พรรคเป็นผู้ริเริ่มโครงการรถไฟทางคู่ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2536 ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศยาวประมาณ 4,044 กิโลเมตร คือ รางเดี่ยว 3,394 กิโลเมตร (83.9%) ทางคู่ 543 กิโลเมตร (13.4%) และทางสาม 107 กิโลเมตร (2.7%) ซึ่งในอนาคต การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนที่จะก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีทางรถไฟอีก 2,419 กิโลเมตร ทำให้มีทางรถไฟยาวทั้งหมด 6,463 กิโลเมตร เป็นทางคู่ 6,356 กิโลเมตร และทางสาม 107 กิโลเมตร ไม่มีทางเดี่ยวเลย ซึ่งการก่อสร้างรถไฟทางคู่ต้องเลือกเส้นทางที่มีความต้องการใช้ทางสูงก่อน ซึ่งในช่วงแรก บางเส้นทางควรสร้างเป็นทางเดี่ยวก่อน เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารและสินค้าสูงจึงก่อสร้างทางเพิ่มเป็นทางคู่ ถึงเวลานั้น ศักยภาพของรถไฟไทยจะเพิ่มขึ้น โดยมีจังหวัดที่มีรถไฟตัดผ่านเพิ่มจาก 47 จังหวัด เป็น 61 จังหวัด ความเร็วรถไฟโดยสารเพิ่มจาก 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มจาก 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 10
“ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะรถไฟทางคู่ในอนาคต พบว่า ในส่วนของรถไฟทางคู่สายเดิม มีเส้นทางที่กำลังก่อสร้าง 700 กิโลเมตร และเส้นทางที่จะต้องก่อสร้างอีก 2,694 กิโลเมตร ส่วนรถไฟทางคู่สายใหม่ มีเส้นทางที่กำลังก่อสร้าง 678 กิโลเมตร และที่จะต้องก่อสร้างอีก 1,741 กิโลเมตร ดังนั้น จึงมีรถไฟทางคู่ที่จะต้องก่อสร้างทั้งหมด 4,435 กิโลเมตร พรรคจะเร่งรัดก่อสร้างทางคู่เพิ่มเติมเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ จากรถไฟทางคู่ที่จะต้องก่อสร้างทั้งหมด 4,435 กิโลเมตร โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ. 2570 จะสามารถก่อสร้างได้ 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 2.7 แสนล้านบาท คือ (1) ปากน้ำโพ-เด่นชัย (2) เด่นชัย-เชียงใหม่ (3) ถนนจิระ-อุบลราชธานี (4) ขอนแก่น-หนองคาย (5) ชุมพร-สุราษฎร์ธานี (6) สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และ (7) หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์
เมื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้ง 7 เส้นทางนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้มีสัดส่วนทางรถไฟดังนี้ ทางเดี่ยว 1,211 กิโลเมตร (25.6%) ทางคู่ 3,404 กิโลเมตร (72.1%) และทางสาม 107 กิโลเมตร (2.3%) รวมระยะทางทั้งหมด 4,722 กิโลเมตร ถึงเวลานั้นต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทยจะลดลงจากร้อยละ 14 เหลือร้อยละ 12 หากพรรคได้ดูแลกระทรวงคมนาคม การประมูลรถไฟทางคู่ที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนทั่วประเทศ แบบสายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ที่มีราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงแค่ร้อยละ 0.08 เท่ากันทุกสัญญา จะไม่เกิดขึ้นอีกแน่นอน
2.รถไฟความเร็วสูง พรรคได้จัดทำแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 เราจะสานต่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย โดยจะเร่งก่อสร้างเส้นทาง หนองคาย-นครราชสีมา ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 230,000 ล้านบาท เป็นการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว มาถึงไทย เพื่อรองรับผู้โดยสารจากประเทศจีนและประเทศลาว ที่จะเดินทางมาไทย 3.ระบบขนส่งมวลชนในเมืองมหานคร เพื่อกระจายความเจริญจากกรุงเทพฯ ไปสู่หัวเมืองหลักในภูมิภาค พรรคจะสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่เชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 27,200 ล้านบาท ที่ขอนแก่น วงเงิน 22,000 ล้านบาท ที่นครราชสีมา ระยะที่ 1 วงเงิน 18,400 ล้านบาท และที่ภูเก็ต ระยะที่ 1 วงเงิน 30,200 ล้านบาท และจะสนับสนุนการก่อสร้างรถรางล้อยาง (Auto Tram) ที่พิษณุโลก วงเงิน 760 ล้านบาท รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล ระยะที่ 1 ที่หาดใหญ่ วงเงิน 16,200 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมดเกือบ 1.2 แสนล้านบาท 4.รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึงเวลานี้ มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว 210 กิโลเมตร ใกล้เปิดให้บริการอีก 65 กิโลเมตร คือ สายสีชมพูและสายสีเหลือง กำลังก่อสร้าง 46 กิโลเมตร ประกอบด้วยสายสีส้มตะวันออก และสายสีม่วงใต้ ในส่วนของสายสีส้มตะวันออกนั้น แม้ว่าการก่อสร้างงานโยธาใกล้เสร็จแล้วก็ตาม แต่ยังเปิดให้บริการไม่ได้ เพราะยังไม่มีผู้เดินรถไฟฟ้า ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และเดินรถตลอดทั้งสาย แต่ยังมีปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ พรรคจะเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ทั้งสายสีม่วงใต้และสายสีส้ม
“สรุปว่า (1) นโยบายด้านระบบรางของพรรคใช้เงินลงทุนประมาณ 6.2 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 4-6 ปี แบ่งเป็นเงินลงทุนจากภาครัฐ 5.1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 และเงินลงทุนจากภาคเอกชน 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 (2) การลงทุนในโครงการรถไฟทางคู่วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP จากร้อยละ 14 ในปัจจุบัน เหลือร้อยละ 12 ในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันของประเทศ
(3) การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงหนองคาย-นครราชสีมา วงเงิน 2.3 แสนล้านบาท และโครงการระบบขนส่งมวลชนในเมืองมหานคร วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จะช่วยให้ประชาชนประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมรับกระแสโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำให้โลกเกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ