โพล ชี้ นโยบายแจกเงิน จัดสวัสดิการของพรรคการเมือง คนกว่า 66% ไม่ทราบวงเงินที่จะใช้ ขณะกว่า 49% แหล่งที่มาของเงิน คือ ต้องรีดภาษีประชาชนมาแจก ขณะพรรคการเมือง-นักการเมือง ต้องรับผิดชอบ มากสุด หากเกิดความเสียหาย 

วันที่ 1 พ.ค. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับเครือข่ายการเมืองสะอาด สำรวจความคิดเห็น เรื่อง “นโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับทราบของประชาชนต่อวงเงินที่จะต้องใช้เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมือง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 66.72 ระบุว่า ไม่ทราบ และ/หรือไม่เคยทดลองคำนวณ รองลงมา ร้อยละ 14.81 ระบุว่า ทราบ และ/หรือ เคยคำนวณรายละเอียดไว้ ร้อยละ 11.75 ระบุว่า ไม่ทราบและไม่สนใจว่าต้องใช้วงเงินเท่าไรสำหรับแต่ละนโยบายแต่ละพรรค และร้อยละ 6.72 ระบุว่า เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะต้องคำนวณเงินและแจ้งให้ประชาชนทราบ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อแหล่งที่มาของเงินในการจัดทำตามนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมือง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.62 ระบุว่า จัดเก็บภาษีประชาชน/บริษัท/ห้างร้านต่างๆ เพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 27.86 ระบุว่า ตัดทอนงบประมาณที่ไม่จำเป็นจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ร้อยละ 25.73 ระบุว่า กู้เงินจากต่างประเทศ ร้อยละ 21.15 ระบุว่า ใช้เงินคงคลังและเงินสำรองระหว่างประเทศของไทย ร้อยละ 18.55 ระบุว่า กวาดล้างการทุจริตเพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ร้อยละ 14.27 ระบุว่า กู้เงินจากในประเทศ และร้อยละ 3.82 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

...

ส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย หากการดำเนินตามนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมืองก่อให้เกิดปัญหาทางการคลังและหนี้สาธารณะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.35 ระบุว่า พรรคการเมืองที่คิดและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ รองลงมา ร้อยละ 41.68 ระบุว่า นักการเมืองที่คิดและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในคราวนี้ ร้อยละ 14.43 ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่หาทางป้องกัน ร้อยละ 9.62 ระบุว่า ข้าราชการประจำที่ทำงานรับใช้พรรคการเมืองในการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ร้อยละ 6.34 ระบุว่า นักวิชาการที่ไม่ออกมาตักเตือนให้สติสังคม ร้อยละ 6.26 ระบุว่า เชื่อว่าปัญหาทางการคลังและหนี้สาธารณะ จะไม่เกิดขึ้น และร้อยละ 1.60 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ