“ลุงตู่” นำทีม รทสช.แจง นโยบายเศรษฐกิจชุดใหญ่ ตั้งเป้าหารายได้เข้าไทย 4 ล้านล้าน ทุกนโยบายพร้อมดูแลคนไทยทุกกลุ่ม ไม่แบ่งแยก ตั้งแต่แรกเกิด ยัน ชรา หวังสร้างความมั่นคงให้ประเทศ และให้คนไทย “กินดีอยู่ดี”

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค นำทีมเศรษฐกิจของพรรค แถลงข่าวเปิดนโยบายชุดใหญ่ว่า ถือเป็นความตั้งใจของพรรคที่จะสานต่อโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งปรากฏผลชัดเจนว่า ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถช่วยให้ประชาชนคลายความเดือดร้อนในช่วงวิกฤติไปได้ และพรรคพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนอีกหลายโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ทั้งระบบเศรษฐกิจมหภาคเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศ และเศรษฐกิจจุลภาคเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ และทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยชรา เพราะความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถรอได้ ทางพรรคจึงเสนอนโยบายที่ครอบคลุม ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่พร้อมนำพาประเทศไปข้างหน้า และช่วยแบ่งเบาปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ชีวิตให้ประชาชน เพื่อที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศ และจะเป็นการตอบคำถามว่า ประชาชนจะได้อะไรจากนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนโยบายแต่ละด้าน มีดังนี้

...

นโยบายหาเงินเข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท ต่อยอดไอเดีย EEC เพิ่มระเบียงเศรษฐกิจอีก 4 ภาค

นโยบายหาเงินเข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท มาจากนโยบาย “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ในส่วนของการ ทำแล้ว คือ การลงทุนในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีการคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ ที่สมบูรณ์สามารถลดค่าขนส่งสินค้าภายในประเทศ และที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ได้เป็นอย่างดีมาก ในส่วนของที่ทำแล้ว ยังมีเรื่องของโครงสร้างดิจิทัลที่สมบูรณ์ ที่ได้ช่วยเยียวยาประชาชนผ่านแอปฯ เป๋าตัง และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งไปถึงประชากรมากกว่า 45 ล้านคนที่ได้ประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล หรือระบบกายภาพที่สมบูรณ์ ที่รัฐบาลได้ไปปักธงที่ต่างประเทศว่า ประเทศไทยจะลดคาร์บอนให้เหลือ 0% ภายในปี 2050 และไทยจะเป็นประเทศที่ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานของอุตสาหกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด มีการปรับเปลี่ยนมาใช้รถ EV ซึ่งรายได้ของประเทศไทยเรา ณ วันนี้ ที่ได้จากอุตสาหกรรมรถยนต์ประมาณ 15% ก็จะรักษาไว้ได้แล้ว แถมจะต่อยอดออกไปอีก

สำหรับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นอีก 15% ของผลผลิตมวลรวมประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของไมโครชิป เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใหม่ที่จะหารายได้เข้าประเทศ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะมาจากเศรษฐกิจในประเทศที่เราขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งก็คือเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) โดยจะขยายแนวคิดของ BCG ให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ นอกจากนี้ จะต่อยอดไอเดียของ EEC คือระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางประตู่สู่อาเซียนและจีนตอนใต้

ในส่วนของการท่องเที่ยว ได้ออกวีซ่าระยะยาว 10 ปี เพื่อเชื้อเชิญชาวต่างชาติที่มีศักยภาพให้มาลงทุน ให้มากินอยู่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนไทย ส่วนนี้ก็จะเป็นเม็ดเงินใหม่ที่จะเอาเข้ามาในประเทศ ซึ่งการท่องเที่ยวระยะยาว ประเทศไทยเราพร้อมมากกับการสร้างรายได้ให้ประเทศชาติเพิ่มเติม และเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับคนไทย เพิ่มโอกาสของประเทศในการค้าขาย และก็เพิ่มโอกาสของประเทศในการเข้าสู้เวทีโลกอีกด้วย ทั้งนี้ การเพิ่มรายได้ให้ประเทศปีละ 4 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจโตปีละ 5% รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นปีละ 20,0000 บาท สามารถสร้างงานเพิ่มได้ 6.25 แสนตำแหน่ง

นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แช่แข็งหนี้สูงสุด 3 ปี แก้กฎหมายเครดิตบูโร ให้ความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ และตั้งกองทุนฉุกเฉินประชาชน 3 หมื่นล้าน

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่สะสมมานาน นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้ ประกอบด้วย แช่แข็งหนี้สูงสุด 3 ปี ตามเงื่อนไขโครงการ แก้กฎหมายเครดิตบูโร ให้ความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ แก้หนี้นอกระบบ และมีที่พึ่งยามยากด้วยกองทุนฉุกเฉินประชาชน 3 หมื่นล้าน เพื่อปลดพันธนาการเงินนอกระบบ สมาชิกสหกรณ์ สามารถใช้หุ้นสหกรณ์ชำระหนี้สหกรณ์ได้ และใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ข้ามเขตสหกรณ์ได้ แก้หนี้โควิดจบใน 12 เดือน แก้หนี้ กยศ. แก้หนี้กองทุนหมู่บ้าน และหนี้ภาครัฐด้วยงาน

สำหรับในเรื่องของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ผู้ที่เป็นหนี้และผู้ค้ำประกัน กยศ. ปัจจุบัน 6,800,000 ราย ได้รับการแก้ไขกลับสู่สภาพปกติแล้ว

ในส่วนของเรื่อง พ.ร.บ.ทวงหนี้ ปัจจุบันได้กำหนดเพดานในหลักพันบาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินเชื่อเช่าซื้อ ที่มีประชาชนเป็นลูกหนี้กว่า 20 ล้านราย จะมีธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เป็นผู้กำกับดูแล ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ของข้าราชการครู หรือข้าราชการอื่นๆ ดอกเบี้ยจะลดลง เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้มีเงินเหลือไม่ต่ำกว่า 30% ส่วนหนี้สินที่เกิดจากกรณีโควิด-19 ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดของประชาชน แต่เกิดจากเหตุการณ์โรคระบาด ส่วนนี้จะแก้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยผู้กู้กว่า 3,000,000 ราย ก็จะได้รับการดูแล

นอกจากนี้ จะมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หรือ กบข. สามารถนำเงินสมทบ 30% ออกมาใช้ได้ก่อน เพื่อลดภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ และเพื่อใช้ในยามจำเป็นและฉุกเฉิน รวมถึงการรื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิน เช่น แก้กฎหมายได้ที่ทำกินโดยไม่ถูกไล่ที่ ไม่ถูกฟ้อง และ พ.ร.บ.ความสะดวก ลดขั้นตอนทางกฎหมาย 1,100 ขั้นตอน

นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ทุนช่วยนักเรียนยากจนได้เรียนหนังสือจนจบมัธยม ช่วยผู้สูงอายุ คนพิการ มีที่อาศัย

ในส่วนนี้ได้เน้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องของเด็กที่มีมากถึง 50% ที่เริ่มต้นเรียน ป. 1 แต่ไม่สามารถจบการศึกษาระดับมัธยมปลายได้ เพราะยากจน รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ทุนตั้งแต่ปี 2563-2566 เป็นเงิน 28,000 ล้านบาท ทำให้เด็กที่ไม่สามารถเรียนต่อ จำนวน 3,000,000 คน สามารถมีเงินไปเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมปลายได้

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในการสร้างเด็กไทย ด้วยโครงการ “อยากเรียนอะไรต้องได้เรียน” และมอบทุนการศึกษาอาชีวะ 100 ทุน ต่อ 1 อำเภอ (เขต) รวมถึงโครงการ “เรียนจบมีงานทำ”

นอกจากนี้ ได้ดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ที่มีที่พักอาศัยไม่เหมาะสม ก็ได้ไปซ่อมแซมให้มีความเหมาะสม 180,000 ครอบครัว และยังทำต่อเนื่องทุกๆ ปี พร้อมยังได้หาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด กับโครงการบ้านเช่า เดือนละ 999 บาท ครอบคลุม 13,000 ครอบครัว

และขณะนี้มีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนก่อสร้างและในอนาคตจะทำให้ครบ 100,000 หลัง ในส่วนของแม่และเด็กอ่อน ได้ดูแลเด็กแรกเกิดให้ได้รับการช่วยเหลือค่านม เดือนละ 600 บาท เพื่อให้เด็กอ่อนมีพัฒนาการที่เหมาะสม

สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย จะต่อยอดโครงการ “บ้านสุขประชา” เพื่อให้ประชาชนมีบ้านและมีงานทำ มีโครงการสินเชื่อบ้านล้านหลัง สำหรับผู้มีรายได้น้อย เฟส 3 ทำโครงการบ้านมั่นคง ริมคลองเปรมประชากร และฟื้นฟูแฟลตดินแดง เฟส 2

ในส่วนของปัญหาสังคม ได้จัดให้มีศูนย์ช่วยเหลือประจำตำบลและชุมชนทั่วประเทศกว่า 7,000 ศูนย์ ด้วยการบูรณาการทุกกระทรวงในรูปแบบของแอปพลิเคชันแจ้งเหตุ เมื่อมีเหตุสามารถปักหมุดหยุดเหตุ เริ่มดำเนินการไปเมื่อ 1 เมษายน 2566 และจะขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนนี้สถานีตำรวจ 1,483 แห่ง ร่วมกับศูนย์ชุมชนอีก 7,000 แห่ง ดูแลบริหารกันเอง ไม่ได้ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว ศูนย์นี้เป็นศูนย์ที่ช่วยลดความรุนแรงในครอบครัว และแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อให้เกิดความสงบ และเกิดความเท่าเทียมกันในครอบครัว

นโยบาย “โคเงินล้าน-โคล้านครอบครัว” ให้กู้เงินซื้อโคมาเลี้ยงแบบปลอดดอกเบี้ยทำให้คนไทยหลุดพ้นจากความยากจนแบบไม่ขายฝัน

นโยบายโคเงินล้าน-โคล้านครอบครัว จะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากความยากจน และสามารถเป็นคนรวยได้ โดยวิธีง่ายๆ จากการเลี้ยงโค โดยให้กู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 50,000 บาท นำมาซื้อโคเพศเมีย 2 ตัวไปเลี้ยง

ทั้งนี้ ในปีแรกจะมีโค 4 ตัว ปีที่ 2 กลายเป็นโค 6 ตัว ปีที่ 3 จะกลายเป็นโค 10 ตัว นี่คือโครงการที่จะทำให้ประชาชนจับเงินแสนได้ด้วยวิธีง่ายๆ แต่ถ้าอยากจับเงินล้าน เลี้ยงโคไปถึง 6 ปี จะมีโคทั้งสิ้น 42 ตัว จะเป็นเงิน 1,050,000 บาท นี่คือโครงการโคเงินล้านที่ทำได้จริง โครงการนี้ รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติ วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยรัฐอุดหนุนดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ปี เป็นเงิน 600 ล้านบาท ให้กองทุนหมู่บ้านนำร่องโครงการนี้ 100,000 ครอบครัว

โดยโครงการนี้ ได้ทำแล้ว ลองแล้ว และสำเร็จแล้ว โดยให้ประชาชนยืมเงินกองทุนหมู่บ้านไปซื้อโค 1,000 ครอบครัว สำเร็จทั้ง 1,000 ครอบครัว เช่น ที่ตำบลสะพานหิน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท จากตำบลที่แห้งแล้ง หันมาเลี้ยงโค 70% ของตำบลคือ 1,000 ครอบครัว นอกจากหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ยังกลายเป็นตำบลที่รวยที่สุดภายในเวลา 3 ปี พรรครวมไทยสร้างชาติจะทำต่อ จะทำให้ประชาชนพบกับความร่ำรวย และเป็นสิ่งที่ไม่ขายฝัน

นอกจากนั้น มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง โครงการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี เพื่อลดราคาน้ำมัน โครงการลดต้นทุนเกษตรกร ช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 5 ไร่ โครงการปุ๋ย ไฟฟ้า น้ำมันราคาถูกสำหรับเกษตรกร แก้กฎหมายประมง ดูแลประมงพื้นบ้าน ปรับการทำงานหน่วยงานของรัฐให้เกิดความเป็นธรรม

นโยบายด้านแรงงาน จัดให้มีโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อความภาคภูมิใจของผู้ใช้แรงงาน

นโยบายด้านแรงงาน คืนเงินสะสมชราภาพผู้ประกันตน ม.33 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่แรงงานสูงถึง 30% ช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมมาใช้ก่อนยามจำเป็น ซึ่งเงินในส่วนนี้ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นเงินของกองทุนประกันสังคม พร้อมทั้งเพิ่มเงินชราภาพ อายุ 55 ปี เป็น 10,000 บาท

เพิ่มสิทธิ์ด้านเงินดูแลบุตรให้แก่ผู้ประกันตนสูงถึง 1,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 10 ปี ให้เงินเกษียณอายุ 55 ปี 10,000 บาท เพื่อเพิ่มความมั่นคงหลังเกษียณ ให้มีเงินเพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน ปีแรก 28,597 ล้านบาท ปีต่อไป เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20%

รวมทั้งปรับเพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตร จากเด็กแรกเกิดจนถึง 10 ขวบ จากเดิม 800 ปรับเป็น 1,000 บาท ผู้ประกันตนมีประมาณ 12 ล้านคน จะเสนอให้มีโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อรักษาดูแลผู้ประกันตน ผู้ใช้แรงงานยามเจ็บป่วย ให้เข้าถึงการบริการที่รวดเร็ว เท่าเทียม และทั่วถึง ซึ่งจะเป็นความภาคภูมิใจของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่คิดไว้ทั้งหมดแล้ว เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

บัตรสวัสดิการพลัสให้เงิน 1 พันบาทต่อเดือน-ทำต่อ โครงการคนละครึ่ง ภาค 2-เดินหน้าเราเที่ยวด้วยกัน
นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยมีประชาชนได้รับสิทธิ์ถึง 14.6 ล้านคน พรรครวมไทยสร้างชาติจะนำนโยบายนี้มาทำต่อ เป็นโครงการบัตรสวัสดิการพลัส โดยโครงการนี้จะจ่ายให้พี่น้องประชาชน 1,000 บาทต่อเดือน ที่สำคัญคือประชาชนสามารถใช้บัตรนี้ไปกู้เงินฉุกเฉินได้อีก 10,000 บาท ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ส่วนโครงการคนละครึ่ง พลเอกประยุทธ์ เป็นคนคิดขึ้นมาเอง ซึ่งทั้ง 5 เฟส มีประชาชนเข้าร่วมถึง 26 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 4 แสนล้านบาท รัฐบาลใช้เงินไป 2 แสนล้านบาท.

พรรครวมไทยสร้างชาติ

ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเท่าเทียม

เพิ่มรายได้ประเทศไทยปีละ 4 ล้านล้านบาท
• เศรษฐกิจโตปีละ 5%
• รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นปีละ 20,000 บาท
• สร้างงานเพิ่ม 6.25 แสนตำแหน่ง

เพิ่มศักยภาพประเทศไทย
• พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย
• ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และ ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค
• เป็นศูนย์กลางภูมิภาค ประตูสู่อาเซียนและจีนตอนใต้
• พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
• สร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ

ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกระจายเม็ดเงินถึงคนตัวเล็ก
• ไฟฟ้าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย
• คนละครึ่ง ภาค 2
• เที่ยวด้วยกันเมืองรอง ภาค 2
• เพิ่มเงินสมทบของรัฐให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 10,000 บาทต่อเดือน


กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือเกษตรกร และชาวประมง
• นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี เพื่อลดราคาน้ำมัน
• โครงการโคล้านครอบครัว
• ลดต้นทุนเกษตรกร ช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 2,000 บาทไม่เกิน 5 ไร่
• ปุ๋ย ไฟฟ้า น้ำมัน ราคาถูกสำหรับเกษตรกร
• แก้กฎหมายประมง ดูแลประมงพื้นบ้าน ปรับการทำงานของหน่วยงานของรัฐให้ความเป็นธรรม

สร้างโอกาสให้คนตัวเล็กด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
• เน็ตประชารัฐ
• พร้อมเพย์ แอปเป๋าตัง แอปถุงเงิน
• แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
• ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบคลาวด์

แก้หนี้
• "แช่แข็ง"หนี้ สูงสุด 3 ปี ตามเงื่อนไขโครงการ
• แก้กฎหมายเครดิตบูโรให้ความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้
• แก้หนี้นอกระบบและมีที่พึ่งยามยากด้วย"กองทุนฉุกเฉินประชาชน"
• สมาชิกสหกรณ์ใช้หุ้นสหกรณ์ชำระหนี้สหกรณ์ได้และใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ข้ามเขตสหกรณ์ได้
• แก้หนี้โควิดจบใน 12 เดือน
• แก้หนี้ กยศ. แก้หนี้กองทุนหมู่บ้าน และหนี้ภาครัฐด้วยงาน

กองทุนฉุกเฉินประชาชน
• วงเงิน 30,000 ล้านบาท เป็นที่พึ่งยามลำบากให้ประชาชนปลดพันธนาการเงินนอกระบบ


ประกันสังคมถ้วนหน้าทุกอาชีพ
• คืนเงินสะสมชราภาพ 30% ผู้ประกันตนมาตรา 33
• ข้าราชการเบิกเงินสมทบส่วนตนจาก กบข. ได้ 30%

เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข
• 1 อำเภอ (เขต) 1 โรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคม 1 ศูนย์ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยโรคร้ายแรงระยะสุดท้าย

ดูแลกลุ่มเปราะบาง
• เบี้ยผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วงอายุ
• เพิ่มเงินช่วยดูแลบุตรแรกเกิดถึง 10 ปี เดือนละ 1,000 บาท(สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม)

ลดค่าครองชีพ
• นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี
• ไฟฟ้าราคาถูกสำหรับเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย
• โครงการ "แท๊กซี่เพื่อสังคม"
• หักลดหย่อนภาษีค่ารักษาพยาบาลตนเองและพ่อแม่สูงสุด 60,000 บาท
• ออมเงินพร้อมหักลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน LTF

บัตรสวัสดิการพลัส
• เพิ่มสิทธิเดือนละ 1,000 บาท/คน
• กู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท/คน

สร้างโอกาสเด็กไทย

• โครงการ "อยากเรียนอะไรต้องได้เรียน"
• ทุนการศึกษาอาชีวะ 100 ทุน ต่อ 1 อำเภอ (เขต) ทุนละ 10,000 บาท
• โครงการ "เรียนจบมีงานทำ"

รื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคการทำกิน
• แก้กฎหมายได้ที่ทำกิน ไม่โดนไล่ที่ ไม่ถูกฟ้อง
• พ.ร.บ.ความสะดวก ลดขั้นตอนทางกฎหมาย1,100 ขั้นตอน


ลดฝุ่น PM 2.5
• ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ปัญหามลภาวะเป็นพิษแบบSingle Command รวม PM 2.5
• เพิ่มรถเมล์ไฟฟ้า
• ส่งเสริมรถอีวี
• ใช้มาตรฐานยูโร 5 กับรถใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67
• เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด 50%

พัฒนาที่อยู่อาศัย
• ต่อยอดโครงการ "บ้านสุขประชา" มีบ้านมีงานทำ
• สินเชื่อบ้านล้านหลังสำหรับผู้มีรายได้น้อย เฟสที่ 3
• บ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร
• ฟื้นฟูแฟลตดินแดง เฟส 2