“ชุมสาย” จวกขาประจำ ยื่นยุบเพื่อไทยกระเป๋าเงินดิจิทัล ชี้ นโยบายพรรคไม่ใช่ความผิดที่มีโทษ เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ติง กกต. รับลูกเร็ว ทำสังคมกังขา

วันที่ 25 เมษายน 2566 นายชุมสาย ศรียาภัย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นร้อง กกต. ว่าพรรคเพื่อไทยออกนโยบายเรื่องกระเป๋าเงินดิจิทัลอาจมีความผิด ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 73 (5) ว่าเป็นการหลอกลวงหรือจูงใจ ให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พรรคการเมือง และซึ่ง กกต. ได้ออกมาให้ข่าวว่าได้เร่งศึกษานโยบายหาเสียงที่พรรคต่างๆ ส่งมา หากมีความผิดจะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำการยุบพรรคนั้น เรื่องนี้ตนเห็นว่า นโยบายพรรคการเมืองคือแบบแผนความคิดที่ใช้เป็นหลักยึดในการตัดสินใจบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่การกระทำใดๆ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ตามมาตรา 73 (5) ที่ต้องถูกผูกพันด้วยหลักการแห่งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของพรรคตามบทกฎหมายได้

ดังนั้น หากพรรคการเมืองดำเนินนโยบายผิดพลาด บกพร่องพรรคการเมือง ย่อมมีความรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชนอยู่แล้ว การที่พรรคการเมือง คิดนโยบาย เป็นเรื่องที่ได้ศึกษา ประเมิน และมีความมั่นใจว่าสามารถทำตามนโยบายได้ แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็รับผิดชอบไป ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจสนับสนุนของประชาชน ไม่ใช่เรื่องการกระทำความผิด ที่จะมีโทษ ถึงขั้นยุบพรรคการเมือง

ทั้งนี้ นโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองทุกพรรค ได้คิดและประกาศว่าจะใช้บริหารประเทศที่มีผลถึงประชาชนนั้น ไม่ได้เป็นการเสนอให้ประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับปัจเจกบุคคลว่าหากเลือกพรรคเพื่อไทยแล้ว คุณจะได้ประโยชน์นั้นๆ มันเป็นเรื่องที่ทุกคนในประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด หากนโยบายได้รับการผลักดันไปสู่การปฏิบัติและมีผลสำเร็จ คนที่ไม่เลือกพรรคเพื่อไทยก็ได้ประโยชน์ด้วย เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังจากเศรษฐกิจซบเซาจากความล้มเหลวในการบริหารของรัฐบาลชุดก่อน การหยิบประเด็นเรื่องนโยบายพรรคการเมืองซึ่งได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญมาเชื่อมโยงกับกฎหมายลูกในระดับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีลำดับศักดิ์กฎหมายต่ำกว่าและมีเจตนารมณ์และความมุ่งหมายแตกต่างกันกับผู้กระทำผิดในลักษณะปัจเจกบุคคล ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์มาก

...

นายชุมสาย กล่าวอีกว่า กฎหมายดังกล่าวคลอดในรัฐบาล คสช. และให้อำนาจ กกต. มากเกินจำเป็น แม้ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรมีอำนาจยุบพรรคด้วยเหตุนี้ การสร้างกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ เป็นการทำลายสถาบันทางการเมือง ซึ่งเป็นเจตจำนงของประชาชนโดยแท้ ทำให้การเมืองอ่อนแอ เปิดทางให้อำนาจพิเศษอื่นแทรกแซงได้ นโยบายของพรรคการเมือง ในฐานะเป็นศูนย์รวมเจตจำนงของประชาชน เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศหากต้องขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ อยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาล โดยให้มีอำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคได้ นี่คือความผิดเพี้ยนขนานใหญ่ หากผู้มีอำนาจสามารถครอบงำองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญได้ พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะตกอยู่ในอันตรายทันที อย่างไรก็ดีตนเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวควรต้องถูกแก้ไขในรัฐบาลหน้า

“พรรคการเมืองที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก่อนเข้าบริหารประเทศต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นสถาบันตัวแทนของประชาชน จึงมีความเชื่อมโยงกับฉันทานุมัติของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น นโยบายอาจผิดพลาดได้ แต่ไม่ใช่เรื่องการผิดกฎหมาย นโยบายของรัฐบาลชุดก่อนที่ประกาศและอยู่จนครบเทอม ซึ่งก็ทำไม่ได้ ไม่เห็นมีใครหาเหตุยื่นยุบพรรค พอเป็นพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายออกมา ยังไม่ทันได้ทำงาน ขาประจำออกมาประสานเสียงยื่นยุบพรรคทันที กกต. ก็ขยันต่อเนื่อง ทำสิ่งที่สังคมกังขาก็หลายเรื่อง เรื่องควรทำไม่ทำก็ไปรอวิบากกรรมก็แล้วกัน” นายชุมสาย กล่าว