“กิตติกร โล่ห์สุนทร” อดีต ปธ.กมธ.พลังงาน สภาฯ เผย ค่าไฟแพง ต้นเหตุจากนโยบายภาครัฐ ให้โรงงานไฟฟ้าเอกชนนำเข้า LNG ได้เองจากตลาดจร แทนก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ และกระแสเงินสด กฟผ.ติดลบ ต้องขึ้นค่า FT

วันที่ 21 เม.ย. นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ลำปาง เขต 1 หมายเลข 5 พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าว ในเรื่องค่าไฟฟ้าที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้น และมีการตอบโต้ ชี้แจงกันไปมาของทั้งฝั่งตัวแทนจากรัฐบาล ตัวแทนจากพรรคการเมือง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ปรากฏว่า มีเพื่อนๆ สอบถามความเห็นในเรื่องดังกล่าวเข้ามา ตนยังได้ตอบติดตลกไปว่า เป็นผลจากการที่รัสเซียไปบุกยูเครน จึงทำให้เกิดวิกฤติพลังงานไปทั่วโลก และ LNG ที่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้ ผ่านการนำเข้า มีราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ในฐานะที่ตนเคยเป็น ประธานคณะกรรมธิการการพลังงาน ในสภาผู้แทนราษฎร ในชุดที่แล้ว ได้มีการติดตามการทำงานของรัฐบาล มาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องวิกฤติราคาพลังงานที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จึงขอแชร์ ข้อมูล และมุมมอง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา

อย่างแรก คือ ค่าไฟที่เพิ่มขึ้น มาจากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT - Fuel Adjustment Charge) ส่วนค่าไฟฐานยังคงเดิม อย่างไรก็ตาม มีการพูดกันมากในเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่เกิน และต้องมีค่าพร้อมจ่ายซึ่งเป็นเงินลงทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าและค่าบำรุงรักษา ซึ่งถูกคิดรวมอยู่ในค่าไฟฐานอยู่แล้ว ปัจจุบันค่าพร้อมจ่ายคิดอยู่ในระดับ 76 สตางค์ต่อหน่วย มาจากการที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่ากำลังการผลิตที่ประเทศสามารถผลิตได้ แต่ยังคงต้องจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้ในส่วนของกำลังการผลิตที่ไม่ได้ใช้ หากรัฐบาลใหม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถโตขึ้นเฉลี่ยได้เกิน 5% ต่อปี อย่างต่อเนื่อง ปริมาณไฟฟ้าสำรอง และค่าพร้อมจ่าย อาจจะกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมทำให้ค่าไฟฐานลดลงก็เป็นได้

...

ค่า FT เพิ่มขึ้นเพราะอะไร สาเหตุหลักมาจากปริมาณการนำเข้า LNG เพื่อมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และจากประเทศพม่ามีไม่เพียงพอ และราคา LNG นำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามสถาณการณ์ตลาดโลก

โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนที่สูงถึง ราวๆ 60% ซึ่งในอดีต ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และจากแหล่งในประเทศพม่า กับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG มากนัก

ปัญหาเริ่มเกิดจากการที่ แหล่งผลิตก๊าซ ทั้งในอ่าวไทย และจากแหล่งในประเทศพม่า เริ่มมีกำลังการผลิตที่น้อยลงเนื่องมาจากอายุของแหล่งผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนผ่าน ของผู้รับสัมปทาน จาก บริษัท Chevron เป็นบริษัท ปตท.สผ. ทำให้กำลังการผลิต ในแหล่งเอราวัณ ลดลง และภาครัฐไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อปัญหาดังกล่าว ไม่ได้มีการส่งเสริม ให้มีการสำรวจแหล่งก๊าซมาเพิ่มเติม หรือเปิดให้ขอสัมปทานแหล่งผลิตใหม่ แต่ภาครัฐกลับไปให้น้ำหนักกับการนำเข้า LNG มาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ภายในประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ค่าไฟแพงมาถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องในภาคพลังงานได้มีความพยายามทำสัญญานำเข้าระยะยาว ในการจัดหา LNG เพื่อมาทดแทน ในส่วนของก๊าซธรรมชาติที่หายไป โดย ปตท. และ กฟผ.ได้เสนอการทำสัญญาระยะยาวในการจัดหา LNG เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่ภาครัฐกลับมีนโยบายให้โรงไฟฟ้าเอกชน นำเข้า LNG ได้เองจากตลาดจร ซึ่งราคามีความผันผวนมากกว่า ก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นอยากจะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถทำสัญญานำเข้าระยะยาวเพิ่มเติม จน LNG มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ

เมื่อมีปัญหาวิกฤติพลังงาน จากการที่รัสเซียบุกยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น เมื่อรวมกับปัญหากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และจากแหล่งในประเทศพม่าที่ลดลง และปริมาณการนำเข้า LNG จากสัญญาระยะยาวมีไม่พอกับความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าในประเทศดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องนำเข้า LNG ตลาดจร ที่เรียกว่า Spot LNG ที่ราคาถีบตัวขึ้นไปสูงมาก จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ค่าไฟมีราคาแพงขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันราคา LNG ในตลาดโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่จากการที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเลือกที่จะใช้กระแสเงินสดของ กฟผ.มาบริหารความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีในระยะสั้น แต่วิกฤติพลังงานในครั้งนี้ เป็นปัญหาที่กินระยะเวลายาวนาน โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการมารองรับเพิ่มเติม ทำให้กระแสเงินสดของ กฟผ. ลดลงถึงขั้นเคยติดลบ สูงสุดกว่าแสนล้านบาท จนไม่สามารถอุ้มค่า FT ต่อไปได้อีก รัฐบาลจึงต้องขึ้น ค่า FT สวนทางกับราคา LNG ที่ลดลง.