ททท. เผย สงกรานต์กระจายรายได้ทุกภูมิภาค 1.8 หมื่นล้าน ต่างชาติมาเที่ยวไทย 3 แสนคน “บิ๊กตู่” ห่วงประชาชนหลังเล่นน้ำสงกรานต์ แนะเฝ้าระวังอาการโควิด ย้ำช่องทางรับการรักษาตามสิทธิ์หากติดเชื้อ
วันที่ 19 เมษายน 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่ามีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3.8 ล้านคน-ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ ประมาณ 300,000 คน สร้างรายได้กระจายทุกภูมิภาคกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากมีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น มีการเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์เป็นจำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้น ดังนั้น ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการตนเอง หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ตาแดง มีผื่น ถ่ายเหลว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรตรวจ ATK หากมีผลเป็นบวก ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ์การรักษา เพื่อลดผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ด้วยความตระหนักแต่ไม่ตระหนก
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานบูรณาการ เตรียมความพร้อมในการรับมือดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเป็นระบบ ในส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีระบบรองรับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อย เข้ารับบริการได้ดังนี้
- ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้ญาติผู้ป่วยเดินทางไปร้านยาที่เข้าร่วม พร้อมกับบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ป่วย เพื่อใช้ยืนยันการรับบริการ จากนั้นเภสัชกรประจำร้านยาจะวิดีโอคอลกับผู้ป่วย เพื่อซักถามอาการ ในกรณีที่มีการจ่ายยา เภสัชกรจะแนะนำวิธีการใช้ยาด้วย พร้อมกับจ่ายยาให้ญาตินำกลับไป ซึ่งในระหว่างนี้ทางร้านยาจะมีการถ่ายภาพการบริการและจ่ายยา เพื่อนำไปบันทึกในโปรแกรม A-MED เป็นหลักฐานการให้บริการจริง และหลังจากให้บริการ 3 วัน เภสัชกรจะติดตามอาการผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ
...
- พบแพทย์ออนไลน์ ส่งยาฟรีถึงบ้าน ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ผู้ป่วยจะได้รับการซักถามและจ่ายยาตามอาการ (หากอาการเข้าเกณฑ์ จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ ตามดุลยพินิจของแพทย์) ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถเลือกรับบริการผ่าน 4 แอปพลิเคชันสุขภาพ คือ
- Totale Telemed โดย บริษัท โททอลเล่เทเลเมด รับผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @totale หรือสายด่วน 0620462944, 0618019577
- แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด (ลงทะเบียน Self-Isolation สำหรับผู้ป่วย COVID-19) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวและสีเหลือง รวมถึงกลุ่ม 608 ทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic
- แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (ลงทะเบียนผู้ป่วยโควิด) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว เฉพาะพื้นที่ กทม. (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp
- แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็มดี) โดย บริษัท ซาลูเบอร์เอ็มดี จำกัด (เว็บไซต์) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว เฉพาะพื้นที่ กทม. (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี : @Sooksabaiclinic
2. ผู้ป่วยสีเหลือง ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงรุนแรง เป็นกลุ่ม 608 หรือมีโรคร่วม และมีอาการรุนแรงขึ้น ได้แก่
- วัดไข้ได้ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมงใน 1 วัน
- วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94%
- มีภาวะแทรกซ้อนหรือการกำเริบของโรคประจำตัว
- มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง
- มีภาวะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วง หรือชักจากไข้สูง
ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ประจำที่ลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข (พื้นที่กรุงเทพมหานคร) คลินิกชุมชนอบอุ่น สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชน
3. กลุ่มผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการรุนแรง ได้แก่
- หอบเหนื่อยหนักมาก
- พูดไม่เป็นประโยค
- แน่นหน้าอก
- หายใจเจ็บหน้าอก
- ปอดอักเสบรุนแรง
- อ่อนเพลีย
- ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว
- มีภาวะช็อก/โคม่า
- ซึมลง
- ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
- ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94%
ต้องรีบรักษาโดยเร็ว เข้ารับบริการที่หน่วยบริการได้ทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด เพื่อรักษาทันท่วงที โดยใช้สิทธิ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่ (UCEP)
อย่างไรก็ตาม รองโฆษกรัฐบาลระบุในช่วงท้ายด้วยว่า ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ไลน์ไอดี @nhso หรือเข้าเว็บไซต์ สปสช. กรณีหาเตียงไม่ได้ หรือหน่วยบริการเตียงเต็ม ให้ติดต่อสายด่วน 1330.