“ธีระชัย” ชำแหละ อุปสรรค 3 ข้อ นโยบายดิจิทัล 1 หมื่น เพื่อไทย ไม่ถึงฝัน ระบุ เข้าข่ายเงินตรา ธปท.มีอำนาจแค่องค์กรเดียว เสี่ยงข้อมูลประชาชนรั่วไหล ต้องคำนึงการค้าขายระหว่างประเทศ เชื่อ ไม่ได้นับหนึ่งแน่

วันที่ 18 เม.ย. เมื่อเวลา 14.30 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรค พปชร. แถลงถึงนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของพรรคเพื่อไทย จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ว่า ที่ออกมาพูดนั้นเป็นจุดยืนส่วนตัว ไม่ใช่นโยบายของพรรค พปชร. ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีคนสนใจจำนวนมาก ตนจึงได้ดูในรายละเอียดแล้วมีความเห็นว่า เป็นโครงการที่มีอุปสรรคหลายประการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้จริง มีปัญหาที่คิดว่าจำเป็นจะต้องพิจารณา และต้องแก้ไขปรับปรุง 3 ประการ ได้แก่

1. โครงการออกแบบให้ส่งเหรียญเข้าไปในกระเป๋าดิจิทัล โดยระบุว่า เป็นแนวคิดเหมือนกันกับการใช้คูปอง ให้ประชาชนนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ ลักษณะอย่างนั้นเป็นการใช้รอบเดียว แต่แนวทางในการออกแบบเหรียญดิจิทัลเพื่อไทยนั้น เป็นเหรียญที่สามารถนำมาใช้วน ชำระหนี้ระหว่างประชาชนด้วยกันได้ ฉะนั้น ในความเห็นตนลักษณะดังกล่าวเป็นการออกเงินตราอย่างหนึ่ง เมื่อมีสภาพเป็นเงินตรา จะเข้าข้อบังคับของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ประเด็นนี้อาจจะเป็นอุปสรรค จึงคิดว่าควรจะต้องศึกษา เพื่อจะหาทางออกให้เรียบร้อยก่อน ส่วนในแง่กฎหมายนั้น ระบุไว้ว่า การออกอะไรที่เป็นเงินตรา ผู้ออกสามารถขออนุญาต รมว.คลัง แต่เห็นว่า รมว.คลัง ที่จะอนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง อนุมัติสิ่งที่เป็นลักษณะเงินตรา ทำไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการออกเงินตรา จึงขอแนะนำให้ไปศึกษาหาทางแก้ไขไว้แต่เนิ่นๆ

...

นายธีระชัย กล่าวว่า 2. เหรียญดิจิทัลออกแบบให้เป็นบล็อกเชน โดยมีการเก็บข้อมูลในการใช้จ่ายของผู้ใช้จำนวนมากถึง 54 ล้านคน โดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลก่อน และถ้าเปิดให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง สามารถล้วงลึกเข้าไปในข้อมูลของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน 54 ล้านคนได้ จะเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าในการตลาด มีความเสี่ยงที่จะรั่วไหล และถ้าเกิดรั่วไหลขึ้นมา จะเป็นอันตรายต่อประชาชน

3. ตนมองดูว่า รัฐบาลหน้าถึงเวลาจำเป็นจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับประเทศไทย เพราะขณะนี้มีแนวโน้มในการดำเนินการในระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ฉะนั้น รัฐบาลหน้าจำเป็นต้องรับมือหลายประการ ตัวอย่าง เมื่อไม่กี่วันเป็นครั้งแรกที่กองทุนระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศจัดตั้งเหรียญดิจิทัลขึ้นมา ให้มีการแลกเปลี่ยนกันข้ามพรมแดน ในขณะที่การค้าของประเทศไทย จะต้องมีการค้าขายที่สัมพันธ์กับจีนมากขึ้นในอนาคต บทบาทที่ไทยต้องคำนึงถึง คือ เงินดิจิทัลหยวนของจีน ที่จะใช้อำนวยความสะดวกในการค้าขายระหว่างไทยกับจีน จึงต้องคิดและวางแผน อีกทั้งเวลานี้โลกแบ่งเป็นสองค่าย คือ ค่ายตะวันตก และค่ายบริกส์ ที่มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ ค่ายบริกส์ศึกษาทำเงินดิจิทัลเพื่อจะหลีกออกไปจากสกุลดอลลาร์ ไทยจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนในการทำเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อรับมือการวางแผนตรงนี้ ซึ่งตนดูแล้วไม่สามารถวางแผนโดยใช้เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย ที่ออกโดยเอกชนรายใดรายหนึ่งได้ เพราะการวางแผนรับมือจำเป็นต้องใช้เหรียญดิจิทัลที่ออกโดย ธปท.เท่านั้น เท่าที่ตนดูในเชิงวิชาการ โครงการดิจิทัล 1 หมื่นบาท นับว่ายังมีปัญหาอุปสรรคที่สมควรจะต้องมีการศึกษาและวางแผนแก้ไข

“ประเด็นปัญหาที่ผมชี้ออกมา 3 ข้อ การแก้ไขนั้นไม่ใช่ง่าย ลักษณะการแก้ไขโดยใช้เหรียญดิจิทัลที่ออกมาโดยบริษัทเอกชน เป็นประเด็นในทางกฎหมายและธรรมาภิบาลอยู่หลายจุด ในความเห็นผมถ้าไม่ดำเนินการป้องกันตั้งแต่ต้นๆ พอเดินแล้วจะสะดุดและเดินไม่ได้ ผมมีข้อกังวลว่า โครงการอันนี้จะปฏิบัติไม่ได้จริง” นายธีระชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้เสี่ยงจะเกิดความเสียหายเหมือนโครงการรับจำนำข้าวในอดีตหรือไม่ นายธีระชัย กล่าว คงไม่เกิดความเสียหาย เพราะอาจจะไม่เกิดเลย ไม่ได้เดินหน้า เพราะถือเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ย้ำว่า องค์กรเดียวที่มีสิทธิและอำนาจในการออกเงินตราให้กับประเทศ มีแค่เฉพาะ ธปท. ถ้าไม่ดัดแปลงจากเอกชนให้เป็น ธปท.ออก จะเดินหน้าได้ยาก ถ้าเดินหน้าไม่ได้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น.