การทำโพลสำรวจความนิยมในช่วงการเลือกตั้ง เหมือนดาบสองคม ผลโพลที่ออกมามีทั้งบวกทั้งลบ มีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ สำนักโพลต่างๆรวมทั้งสื่อที่ทำโพลในขณะนี้ต้องทำใจยอมรับความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆที่จะตามมาเป็นกระบุงโกย ตามด้วยการออกมาแฉพฤติกรรมของสำนักโพลต่างๆ จากฝ่ายวิชาการด้วยกันเองบ้างจากฝ่ายการเมืองบ้าง เพราะการทำโพลโดยการเก็บสถิติมีช่องว่างทั้งจากการตั้งคำถามและการตอบคำถามของผู้ที่ถูกสอบถาม ทำให้เกิดทั้งคุณและโทษได้ ในคำถามและคำตอบบางรายก็ตอบไม่ตรงคำถาม บางรายก็ตอบตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้ว เป็นต้น
โพลการเมืองขาประจำ ซูเปอร์โพล สวนดุสิตโพล นิด้าโพล รวมทั้งสื่อ อาทิ ไทยรัฐโพล หรือล่าสุดเดลินิวส์จับมือกับมติชนในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จึงต้องมีการทำตามขั้นตอนและกรรมวิธีการทำโพลกันอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการกำหนดกลุ่มตัวอย่างตามระดับอายุ เพศ อาชีพ รายได้เนื่องจากการตัดสินใจตามกลุ่มอายุและเพศต่อทัศนคติการตัดสินใจที่จะเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองมีความแตกต่างกัน
ยกตัวอย่าง เดลินิวส์-มติชนโพล มีการสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 84,076 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8-14 เม.ย.ที่ผ่านมา กระจายไปทุกภูมิภาค ทุกระดับอายุ อาชีพ การศึกษา และรายได้ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ไม่ซ้ำไอพีแอดเดรส (ไม่ซ้ำบ้านเลขที่) เพื่อให้เกิดความแม่นตรงมากที่สุด
ไม่ว่าผลโพลจะออกมาแบบไหนก็ตามก็จะมีผลกับนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆและเป็นการชี้นำต่อการตัดสินใจที่จะลงคะแนนเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองและนักการเมืองจะซีเรียสกับผลโพลอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นผลพวงของคะแนนการเลือกตั้งที่ออกมาทุกครั้ง
และการทำโพลก็จะ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคการเมืองและนักการเมือง เมื่อนำผลโพลมาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ดังนั้น จึงมีการใช้โพลเป็นเครื่องมือที่ทำให้สำนักโพลที่เผยแพร่ผลโพลออกมาแล้วค้านกับความรู้สึกของประชาชน เลยถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือในการทำโพล สุดท้ายแล้วคนก็จะเริ่มไม่เชื่อถือการทำโพล เหมารวมไปหมด
...
อย่างไรก็ตาม การทำโพลเกือบจะทุกสำนักพบว่า พรรคการเมือง ลำดับ 1 และ 2 ยังเป็น พรรคเพื่อไทย และ ก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยเฉพาะคะแนนนิยมของ ก้าวไกล กับ พิธา ขยับดีขึ้นเรื่อยๆในทิศทางเดียวกัน และมีโอกาสที่จะเบียดกับเพื่อไทย และแพทองธาร ด้วยซ้ำ
สังเกตว่าคนในเมืองหรือคนชั้นในตัดสินใจที่จะเลือกก้าวไกลและพิธามากขึ้น
นั่นหมายถึงว่าถ้าคะแนนที่จะหายไปจากเพื่อไทย ส่วนหนึ่งก็จะไปเลือกก้าวไกล ซึ่งไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองอื่นๆที่มีแฟนคลับประจำอยู่แล้ว เช่น คนชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเลือกรวมไทยสร้างชาติ คนชอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็จะเลือกพลังประชารัฐไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ คนจะเลือกเพราะต้องการจะเลือกขั้วการเมืองที่ชัดเจน ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีแลนด์สไลด์แน่นอน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th