อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยแนวโน้มพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า แนะหลังสงกรานต์สังเกตอาการตัวเองอย่างน้อย 7 วัน เลี่ยงใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในวันนี้ (16 เมษายน 2566) ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำสัปดาห์ที่ 15 ปี พ.ศ.2566 ระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วทั้งหมด 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะเดียวกัน มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 และร้อยละ 36 ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ทั้งนี้ สัปดาห์ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ศพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว จึงขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งสถานบริการจะปรับการให้บริการรูปแบบวัคซีนโควิด-19 ประจำปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

...

ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก พบเชื้อแล้วใน 22 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เชื้อสายพันธุ์ล่าสุดนี้มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต เป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่า อาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม โดยฐานข้อมูล GISAID มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 6 ราย จากที่มีรายงานทั่วโลกเกือบ 3,000 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2566)

นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร
นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

ทางด้าน นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า จากรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระยะนี้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันป้องกันอาการหนักได้แน่นอน แม้จะไม่ได้ป้องกันติดเชื้อได้ 100% พร้อมแนะนำว่า หลังสงกรานต์ขอให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเองอย่างน้อย 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากจำเป็นให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เมื่อเริ่มมีอาการป่วย เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นบวกก็ให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิ์และตามระดับอาการ

อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ขณะที่ยังไม่มีอาการ ขณะที่โรงพยาบาล มียา เวชภัณฑ์ เตียงเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 1422.