“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” โดดลงสนามการเมือง ร่วมทีมพรรคชาติไทยพัฒนา ชูมั่นใจเป็นคนรู้เรื่องการเงินมากที่สุด นโยบายเศรษฐกิจสร้างงาน สร้างอาชีพ แก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งระบบให้คนไทย เสนอให้ใช้สหกรณ์ไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า การตัดสินใจลงสู่สนามเลือกตั้งหลังจากหมดวาระในตำแหน่ง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพราะตอนอยู่ธนาคารออมสิน รู้สึกว่ายังช่วยประชาชนได้ขนาดนี้ มีความสุขมาก ได้ไปปล่อยกู้ ไปพัฒนา นำนโยบายรัฐไปแก้ปัญหาหนี้สิน ขนาดองค์กรเดียวยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง ถ้ามีโอกาสเข้าไปขับเคลื่อนประเทศได้ในระดับที่สูงขึ้น ก็มั่นใจว่าจะช่วยประเทศได้อีกเยอะ และถ้าคนดี คนเก่ง เข้ามา จะช่วยให้ประเทศดีขึ้น

“ผมเลือกมาอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา เพราะเป็นพรรคขนาดเล็ก การบริหารจัดการภายในไม่ซับซ้อน เป็นพรรคที่พร้อมพัฒนาและฟังเสียงคนรุ่นใหม่ เพื่อมาแทนนักการเมืองรุ่นเก่า และถ้าได้ร่วมรัฐบาลก็สามารถนำเสนอนโยบาย ผ่านคณะรัฐมนตรีเสนอผ่านภายนอก หรือใครจะเอาแนวคิดนี้ไปใช้ก็ได้”

10 นโยบาย “ว้าว ไทยแลนด์”

นโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคที่เน้นเรื่องสังคม ตนเข้ามาช่วยเติมเต็มด้านการบริหารและพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เปิด 10 นโยบาย “ว้าว ไทยแลนด์” ไปแล้ว ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (บรรหารโมเดล ปี 2540) เกษตรรุ่นใหม่ขายคาร์บอนเครดิตได้ บาดาลขนาดใหญ่ทุกตำบล น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แจกพันธุ์ข้าวฟรีทั่วประเทศ 60 ล้านไร่ ขนส่งมวลชนเข้าถึงเท่าเทียม ขยายเขตไฟฟ้าการเกษตรทั่วประเทศหน่วยละ 2 บาท งบลงทุนท้องถิ่น 10 ล้านบาท เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน สร้างงานสร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ เดือนละ 3,000 บาท และสุขภาพดีที่เงินคืน 3,000 บาท สวัสดิการอัปเกรดได้

...

สร้างงานเสริมอาชีพกลุ่มฐานราก

นโยบายที่จะเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย มีทั้งสิ้น 11 นโยบาย นโยบายแรกเป็นเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ผู้มีรายได้น้อย และธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งสร้างความรู้ สร้างอาชีพ สร้างตลาดออนไลน์ และออฟ ไลน์ สร้างประวัติทางการเงินเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย QR Code เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐได้ช่วยแก้ปัญหาส่วนหนึ่ง และคนกลุ่มนี้นำเงินออมมาใช้ ทำให้เงินที่เก็บไว้ร่อยหรอลง

จึงต้องสร้างความรู้ สร้างอาชีพใหม่ๆให้ เช่น การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้าไปช่วยพัฒนาให้เกษตรกรสร้างผลผลิตเพิ่มมากขึ้นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่พอรัฐจะต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสร้างอาชีพเสริมให้ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ขนม นวดแผนโบราณ ซ่อมรถจักรยาน เป็นต้น เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ และอาจกลายเป็นรายได้หลัก ขณะเดียวกัน ในการค้าขายรัฐต้องสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ในรูปแบบหนึ่งแพลตฟอร์มหนึ่งตำบล ให้นำสินค้าที่มีมาวาง เพื่อให้ช่องทางการค้าขายกว้างขึ้น ส่วนการขยายแบบออฟไลน์ก็จะวางขายตามถนนคนเดิน หรือจุดพักรถ

ขณะเดียวกัน จะสร้างประวัติทางการเงินเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าไปดูประวัติตรวจสอบแหล่งเงินทุนได้ เช่น ขายก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 1,000 บาท สิ่งที่จะพัฒนาต่อคือธนาคารจะต้องปล่อยกู้อัตโนมัติได้ และตัดเงินต้นและดอกเบี้ยตามของยอดขายได้ อาจจะตัด 5% หรือ 10% ของยอดขายสิ่งนี้ยังไม่มีใครทำ อยากให้ทุกธนาคารทำแบบนี้จะช่วยคนตัวเล็กได้

นอกจากนั้น ต้องส่งเสริมกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ โดยตั้งกองทุนร่วมลงทุน ซึ่งในสมัยที่เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินก็ร่วมลงทุนไป 40-50 บริษัท ประสบความสำเร็จทุกรายเพราะคัดเลือกมาแล้ว หากในระดับรัฐบาลตั้งกองทุนร่วมลงทุน 100,000-200,000 ล้านบาท จะช่วยได้ถึง 10,000 บริษัท เป็นการสร้างโอกาสให้คนไทย หากขาดทุนไม่เป็นไร ขอให้รอด เพราะรัฐรับความเสี่ยงได้

แก้ปัญหาหนี้สินเจาะลึกทุกกลุ่ม

นโยบายต่อมา คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยเจาะลึกไปยังทุกกลุ่ม กลุ่มเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาหนี้สิน ครู ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กยศ. เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระผู้มีรายได้น้อย โดยเปิดคลินิกให้คำปรึกษาการจัดการหนี้แห่งชาติ ตั้งศูนย์รวมหนี้เพื่อบริหารจัดการนำเงินมาเกลี่ยให้เจ้าหนี้ ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างฟ้อง ตั้ง AMC หรือบริษัทสินเชื่อบุคคลแห่งชาติรับซื้อหนี้จากสถาบันการเงินโดยมีการชอร์ต คัตเงินต้นบางส่วน และออกมาตรการปลอดเงินต้น ปลอดดอกเบี้ย เพิ่ม 2 ปีสำหรับกลุ่มไม่มีความสามารถชำระหนี้ สำหรับกลุ่มที่สามารถชำระบางส่วน ให้ชำระเงินต้นก่อน ดอกเบี้ยทีหลัง เป็นเวลา 2 ปี รวมทั้งออกมาตรการขยายระยะเวลากู้ออกไปเป็นระยะยาว เช่น 30 ปี มาตรการลดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับให้เป็นธรรม

“ถามว่าทำไมต้องแก้หนี้ เพราะช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ทำธนาคารล้มเกือบหมดเหลือเพียงธนาคารกรุงเทพกับธนาคารกสิกรไทย เคยคิดไหมว่าวิกฤติโควิด-19 รุนแรงมากกว่ากระทบหมดเลย แต่ทำไมระบบเศรษฐกิจไม่พัง เรื่องการเงินผมรู้เรื่องมากที่สุด ในตอนนั้นธนาคารออมสินเริ่มต้นพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ 2 ปี ยอมขาดทุนดอกเบี้ย 25,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจและอนุญาตให้ธนาคารอื่นทำด้วย และให้คิดดอกเบี้ยได้ จึงไม่เสียหาย แต่ถ้ายังฝืนต่อไป คนจ่ายหนี้ไม่ไหวยิ่งจะทำให้เกิดหนี้เสีย ธนาคารก็ต้องเพิ่มทุนและอาจเกิดวิกฤติธนาคาร”

สหกรณ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายชาติชายกล่าวว่า นโยบายต่อมาคือการนำเอาสหกรณ์ไทยขับเคลื่อนประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นสถาบันการเงินแห่งหนึ่งซึ่งมีทุนและเงินสะสม กว่า 2 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกกว่า 11 ล้านคน เป็นสถาบันที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ โดยมีหลักการสร้างผลประโยชน์และผลตอบแทนลงสู่ประชาชนและสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา สามารถดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์โรงไฟฟ้าชุมชน สหกรณ์เพื่อการเกษตรชุมชน สหกรณ์โรงกำจัดขยะแห่งชาติ สหกรณ์เครื่องจักรกลชุมชน สหกรณ์เคหสถานท้องถิ่นเพื่อที่อยู่อาศัย สหกรณ์ร้านค้าชุมชนทุกหมู่บ้าน

นอกจากนี้ มีนโยบายพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ปฏิรูปการศึกษา นโยบายการค้าระหว่างประเทศ นโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตร อาหาร นโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ และนโยบายส่งเสริมการค้าชายแดนและค้าผ่านแดน.