ยิ่งเข้าใกล้การเลือกตั้ง 2566 “พรรคการเมือง” ก็เริ่มเปิดตัวนโยบายประชานิยมออกมาขายมัดใจพี่น้องประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ปล่อยตัวเลขเงินออกเสนอให้แรงงานต่อวันตั้งแต่ 450–600 บาท และเงินเดือนจบปริญญาตรี 25,000 บาทขึ้นไป

ทั้งที่เดือน ต.ค.2565 ครม.เพิ่งมีมติปรับขึ้นค่าแรง 328-354 บาท/วัน ทำให้นโยบายเพิ่มเงินค่าจ้างให้ผู้ใช้แรงงานนี้เป็นเรื่องน่าสนับสนุนปรับเงินให้สอดคล้องสภาพสังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การแจกเงินช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน 40 ล้านคน อาจกระทบขีดความสามารถการแข่งขันในการเป็นฐานผลิตสินค้าหรือไม่

เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันในสังคมว่า “นโยบายขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด” จะสามารถทำได้จริงมากน้อยแค่ไหนผ่านเวทีสัมมนา สาธารณะ “ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทย?” จัดโดยผู้อบรม บสก. รุ่นที่ 11 ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เล่าว่า

จริงๆแล้วค่าแรงขั้นต่ำเป็นเสมือนค่าแรงแรกเข้าทำงาน “กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินขั้นต่ำโดยไม่มีเงื่อนไข” ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือแรงงานนอกระบบ “นายจ้างต้องจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนั้น” เมื่อเข้าทำงานระยะหนึ่ง “ผู้ประกอบการ” ก็จะปรับค่าจ้างขึ้นตามเกณฑ์ทักษะอีกครั้ง

...

ลักษณะแบบนี้มักเป็นเหมือนกันทั่วโลกอย่าง “ญี่ปุ่น” มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด 1,900 บาท/วัน หรือ 5.8 หมื่นบาท/เดือน “แต่ข้าวแกงจานละ 1,000 เยน หรือ 260 บาท” หากกิน 3 มื้อจะตก 780 บาท/วัน น้ำเปล่าขวดละ 26 บาท สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำต่างประเทศที่รับแม้จะสูงกว่าประเทศไทยก็เลี้ยงตัวเองได้คนเดียวเช่นกัน

ถ้ามาดูสถานการณ์ “ตลาดแรงงานไทยค่อนข้างตึงตัวไปอีก 5 ปี” บางสาขาขาดแรงงานจำนวนมาก “ไม่ทันต่อภาคการผลิต” เพราะแรงงาน ระดับล่างขาดแคลนมาตั้งแต่ก่อนการระบาดโควิด-19 ทำให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำแรงงานผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนเข้าระบบอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ดี “แรงงานระดับล่างก็ยังขาดอีก 2 แสนคน” แล้วยิ่งหลังโควิด-19 คลี่คลายกลับพบ “แรงงานระดับกลาง–ระดับสูงขาดแคลนซ้ำเติมอีกจำนวนมาก” เพราะบางส่วนไม่กลับเข้าสู่ระบบต้องการค่าแรงที่สูง แต่ไม่เข้าใจบริบทของประเทศที่ส่งออกสินค้าราคาถูก เช่น ข้าวที่แข่งขันอยู่กับเวียดนาม หรืออินโดนีเซียอยู่ขณะนี้

แล้วยิ่งราคาการส่งออกข้าวก็ใช่ว่า “จะสูงมาก” ทำให้รายได้อาจไม่สอดรับกับค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น

ประการต่อมาช่วงใกล้เลือกตั้ง 2566 นี้ “พรรคการเมือง” ต่างใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงด้วยการชูประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ “ส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อการตลาด” ที่ถูกกำหนดจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แต่ละพรรคการเมือง เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายขายนโยบายในการ ช่วยเหลือของแต่ละช่วงวัยอายุ

เช่นเดียวกับนโยบายขึ้นค่าจ้างก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่เจาะลง “กลุ่มแรงงาน” ที่อาจจะทำได้จริงเพราะนายจ้างที่เป็นผู้ต้องจ่าย “ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรืองบจากภาครัฐ” แต่ว่าการขึ้นค่าจ้างเกินความเป็นจริงนี้อาจจะส่งผลกระทบกลายเป็นห่วงโซ่ของการอุปโภค-บริโภคทั้งระบบได้ด้วยซ้ำ

อย่างเช่น กทม. ค่าจ้าง 353 บาท/วัน สมมติว่าขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท/วัน นั้นก็แปลว่า “นายจ้างต้องจ่ายอีก 247 บาท/วัน” ดังนั้น เงินจำนวนนี้จะถูกคำนวณเข้าไปอยู่ในต้นทุนสินค้าทันที สุดท้ายภาระจะมาตกกับ “ผู้บริโภค” เหตุนี้ค่าจ้างขั้นต่ำไทยควรเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อแล้วต้องไม่มีการเมืองแทรกแซง

“กลไกตลาดแรงงานนั้นนายจ้างและลูกจ้างควรต้องอยู่ด้วยกันได้เหมือนปาท่องโก๋การขึ้นค่าจ้างจำเป็นต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรไตรภาคีที่ทำกันมา 30 ปี แล้วการเมืองอย่าเข้ามาแทรกแซงทำลายต้นทุนของชาติในส่วนประชาชนก็ควรต้องรู้เท่าทันพรรคการเมืองที่กำลังใช้หลักการตลาดเพื่อให้ได้เข้าไปในสภาฯ” ดร.ธนิตว่า

ขณะที่ นภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สนง.ปลัดกระทรวงแรงงาน บอกว่า ประเทศไทยกำหนดให้มีค่าจ้างขั้นต่ำบางพื้นที่ครั้งแรกปี 2516 เริ่มต้น 12 บาท/วัน กระทั่งปี 2518 “คณะกรรมการค่าจ้าง” ได้กำหนด ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นแรงงานไร้ฝีมือแรกเข้าในตลาดแรงงานให้ “นายจ้าง” ต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้

ในส่วน “กลุ่มแรงงานใหม่เรียนจบสายอาชีพ” ต้องได้รับค่าทักษะเพิ่มเติมด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้การพิจารณาของกฎหมายยึดหลัก 3 กลุ่ม คือ เศรษฐกิจ ความสามารถการจ่ายของนายจ้าง และความเป็นอยู่ของลูกจ้าง เมื่อข้อกำหนดเป็นกฎหมาย “คณะกรรมการค่าจ้าง” จึงพิจารณานอกเหนือไปจากระเบียบนั้นไม่ได้

ถัดมา “สูตรคำนวณขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็นไปตามธนาคารแห่งประเทศ ไทย และอาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมกันกำหนดขึ้นตาม “หลักเศรษฐศาสตร์” อ้างอิงจาก 10 หลักเกณฑ์ใน ม.87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ด้วย การใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันแต่ละจังหวัด บวกกับผลิตภาพอัตราเติบโตของแรงงานย้อนหลัง 5 ปี

จากนั้นนำมาบวกกับอัตราเงินเฟ้อ ตัวแปรเชิงคุณภาพ ม.87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ อย่างน้อย 4 ปัจจัย ทำให้ได้ตัวเลขจำนวนหนึ่งแล้วส่งให้ ระดับจังหวัดพิจารณาหาข้อสรุปเสนอ “คณะกรรมการค่าจ้าง” ดังนั้น การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำนั้น “จึงมิได้ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยตามอำเภอใจ” เพราะ มีสูตรการคำนวณอย่างชัดเจน

หนำซ้ำยังมีการสำรวจ “ความจำเป็นในการครองชีพแรงงาน” ด้วย การเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 15 ปี พบว่า “แรงงานทั่วประเทศมีรายได้ทั้งหมดเฉลี่ย 418.84 บาท/วัน” มีค่าใช้จ่ายอัตภาพค่าครองชีพพื้นฐาน 316.39 บาท/วัน ค่าใช้จ่ายคุณภาพ (ภาษีสังคม) 334.81 บาท/วัน

ถ้านำมาเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและค่าใช้จ่ายปี 2561-2565 พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยทั่วประเทศ 337 บาท/วัน ส่วนค่าใช้จ่ายคุณภาพเฉลี่ยทั่วประเทศ 335 บาท/วัน ฉะนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำเหลื่อมล้ำค่าใช้จ่าย 2 บาท/วัน

และมีคำถามว่า “การขึ้นค่าแรงตามพรรคการเมืองชูนโยบายทำได้จริงหรือไม่...?” ถ้ายึดตามวิธีการคำนวณในหลักเศรษฐศาสตร์อันมีตัวเลขอ้างอิงผลิตภาพแรงงานสามารถผลักดันให้สูตรการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นได้ และอัตราสมทบแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อันเป็นส่วนหนึ่งให้ GDP ประเทศเพิ่มขึ้น

ตรงนี้จะเห็นว่า “การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสูงได้นั้น” อัตราสมทบรายได้ ของแรงงานต่อ GPP ต้องเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 0.34 ก้าวเป็น 0.5 หรือ 16% และผลิตภาพแรงงานต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.15 ปัจจุบันอยู่ที่ 3-4% นั้นก็แปลว่าแต่ละปีต้องเพิ่มขึ้น 30-35% เพื่อดึงผลิตภาพแรงงานปัจจุบันขึ้นแล้ว GDP ของประเทศต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 6

สิ่งเหล่านี้เป็นบางส่วนถูกนำมาพิจารณาการขึ้นค่าจ้างก้าวกระโดดที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้หรือไม่

แล้วประเด็นสำคัญ “หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ” แน่นอนอาจทำให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ เพราะไม่มีแรงจูงใจจะกระจายการผลิตไปจังหวัดที่อยู่ห่างออกไป “หากมีปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ก้าวกระโดดสูงเกินไป” ประเทศไทยอาจสูญเสียความสามารถในการดึงดูด การลงทุนจากต่างประเทศ

ทำให้ราคาสินค้าไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น “ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ หรือย้ายฐานผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน” ที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า หากเราปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดแบบก้าวกระโดด

ยิ่งกว่านั้น “อาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจท้องถิ่น หรือกิจการขนาดเล็ก” ส่งผลให้ต้องลดจำนวนคนงานลงหรือปิดกิจการ ส่วนแรงงานจะมีรายจ่าย หรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น มีอำนาจซื้อน้อยลง และมีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าบริการได้น้อยลง ทำให้รายได้ที่มี หรือเงินหามาได้ไม่พอกับการยังชีพวนเวียนเช่นเดิม

นี่คือข้อดีข้อเสีย “กรณีการเพิ่มค่าแรงแบบก้าวกระโดด” ที่อาจเป็นดาบสองคม เพราะแม้ว่า “ผู้ใช้แรงงาน” จะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่ “ผู้ประกอบการ” ยอมให้ขึ้นนั้น แต่ก็จะบวกไปกับต้นทุนการผลิตส่งผลให้ราคาสินค้าแพงมากขึ้น กลายเป็นปัญหาค่าครองชีพสูงวนเวียนไม่รู้จบอยู่เช่นเดิม.