ปัญหาที่คิดไว้แล้วว่าต้องเกิด แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ การเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร จะเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจหรือไม่ การรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล จะห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายกันขนาดไหน ใครจะมาเป็นนายกฯคนต่อไป
อีกปมปัญหาคือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่จะต้องล่าช้าออกไป
โดย ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วที่วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท จัดทำงบฯขาดดุลไว้ 593,000 ล้านบาท
จัดสรรให้ส่วนราชการเพิ่มขึ้นจากงบฯปี 2566 ถึง 10%
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผอ.สำนักงบประมาณ ชี้ว่าการจัดทำงบฯปี 2567 อยู่ในช่วงเลือกตั้ง ทำให้ขั้นตอนทางกฎหมายต้องหยุดเอาไว้ก่อน
เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาได้ทบทวนรายละเอียด ก่อนเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
สำนักงบฯคาดว่าความล่าช้าจะอยู่ในกรอบเวลา 3-6 เดือน
ช้าสุดไม่เกินไตรมาสที่ 1 ปี 2567 หรือไม่เกินเดือน มี.ค.2567
ซึ่งอำนาจการทบทวน หรือจัดทำงบประมาณใหม่ ถือเป็นอำนาจของรัฐบาลใหม่
สามารถเลือกได้ว่าจะนำกรอบงบประมาณเดิม และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ที่รัฐบาลเดิมจัดทำไว้มาดำเนินการต่อไปได้เลย กรณีนี้จะทำให้การจัดทำงบฯเสร็จเร็ว
แต่หากรัฐบาลใหม่มีการทบทวนแล้ว ต้องการจัดทำงบประมาณใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การจัดทำกรอบวงเงิน
ก็ต้องผ่าน 4 หน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง
ตรงนี้อาจจะใช้เวลานานหลายเดือน
เพราะมีปัจจัยเรื่องของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าด้วย
หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็เป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนกันใหม่
สำนักงบฯเลยเตรียมประกาศเกณฑ์ในการใช้งบประมาณไปพลางก่อน และเสนอปฏิทินงบประมาณใหม่ให้กับรัฐบาลใหม่รับทราบ หลังจากเข้ามาบริหารประเทศแล้ว
...
ส่วนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2568 จะทำควบคู่กันไปในช่วงที่มีการทบทวนงบฯปี 2567
ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กระทรวงและหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 351,985 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 330,512 ล้านบาท
กระทรวงการคลัง 313,822 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม 198,562 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 183,950 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 170,369 ล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ 127,669 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142.9 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน 61,841.1 ล้านบาท สำนักนายกรัฐมนตรี 35,423.3 ล้านบาท
โดย กระทรวงมหาดไทย ที่พุ่งพรวดขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้เพิ่มขึ้นถึง 1.65 แสนล้านบาท
เพราะต้องนำไปปรับขึ้นค่าตอบแทนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านผู้บริหาร อบต. ผู้นำท้องถิ่น อสม. ฯลฯ
ตามที่รัฐบาลชุดนี้ได้เทกระจาดเอาไว้ก่อนจะยุบสภา
เชื่อว่าทุกฝ่ายคงรู้ว่า ยิ่งงบประมาณต้องล่าช้าออกไปมากเท่าไหร่
ก็ยิ่งตัดโอกาสของประเทศ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่านั้น
ที่สำคัญ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทุจริต จากทางลัดในการใช้งบฯ มากยิ่งขึ้น.
เพลิงสุริยะ