“ม.ล.ชโยทิต” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รทสช.โชว์วิสัยทัศน์ "ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ" ดันไทยเป็นฐานการผลิตของโลกที่สะอาด ชูระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค กระจายรายได้ เดินหน้า BCG โมเดล สร้างรายได้เศรษฐกิจฐานราก หวังปั้นเม็ดเงิน 4 ล้านล้าน ใน 2-3 ปี
วันที่ 30 มี.ค. 66 ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วมเวทีตอบข้อซักถามมุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ โดยผู้นำภาคธุรกิจเอกชน และผู้นำ 10 พรรคการเมือง จัดโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพี่อนำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากมุมมองนักธุรกิจต่อพรรคการเมืองแปลงสู่การกำหนดนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง ในวันนี้ (30 มีนาคม 2566) ที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยในเวทีดังกล่าว นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมุมมองของนักธุรกิจ 3 ด้านหลัก คือ Connect Competitiveness และ Sustainability
ม.ล.ชโยทิต กล่าวถึงประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศว่า ด้วยการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ขนส่งทางราง เชื่อมโยงกันเพื่อการขนส่งที่สะดวก รวมถึงด้านดิจิทัลที่จะสามารถกระจายองค์ความรู้ต่างๆ และเราได้ทำสำเร็จแล้ว คือ เป็นศูนย์กลางการเก็บข้อมูลที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมที่ไทยมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ EV และการท่องเที่ยว เดินหน้าต่อไปได้ในเวทีโลก
...
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า การเพิ่มขีดความสามารถของไทย มีแนวทางที่ชัดเจนสอดคล้องกับค่านิยมของโลก จากสิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วและกำลังทำอยู่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของโลกที่สะอาด ทำให้มีการดำเนินการด้วย roadmap ที่ชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และมาตรการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดที่จะไม่มีการใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ.2030 โดยในปี ค.ศ.2040 ประเทศไทยจะใช้พลังงานสะอาดและพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ จึงทำให้ไทยจะเป็นฐานการผลิตของโลกที่สะอาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานที่สะอาดที่ได้ปักธงทั่วโลก และดำเนินการไปพร้อมกับการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมด้านอุปโภคบริโภค และอาหาร
“ขณะนี้ประเทศไทยได้ทำสำเร็จแล้วในการวางโครงสร้างพื้นฐาน การมีแผนปฏิบัติการ roadmap ที่ชัดเจนด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน จนทำให้บริษัทดิจิทัลแพลทฟอร์มระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Google หรือ AWS (Amazon Web Services) มาลงทุนในประเทศไทย เพราะทุกบริษัทต้องการพลังงานสะอาด ทุกอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นแต้มต่อของประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมใหม่กำลังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ขณะนี้อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า (EV) ทั้งรถจากค่ายญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป และจีน ตอบรับมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแล้ว ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำที่ผลิตเวเฟอร์ ชิป (Wafer Fabrication) จากต่างประเทศก็กำลังดำเนินการของ BOI อยู่” ม.ล.ชโยทิต กล่าว
ม.ล.ชโยทิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำต่อ คือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่อกระจายรายได้และความเจริญไปทั่วประเทศไทย โดยจะมีแหล่งพลังงานสะอาดเป็นหัวใจสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค และส่งเสริม SME ให้ภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ร้อยละ 50 และยังมี e-factoring และกองทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้านแหล่งเงินทุนให้กับ SME นอกจากนี้ในด้านการค้าระหว่างประเทศ นอกเหนือจาก FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้เกษตรกรไทยได้ประโยชน์สูงสุดแล้ว ไทยยังได้เจรจาในช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่านมาให้สินค้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดของไทยได้รับสิทธิพิเศษ Green Lane กับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและ OECD
“สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ดำเนินการสำเร็จในแต่ละขั้นตอนและทั่วโลกยอมรับแล้วนั้น ขณะนี้เริ่มผลิดอกออกผล ในการสร้างรายได้ให้ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจนี้จะทำให้เราไปสู่เศรษฐกิจศูนย์รวมอุตสาหกรรมใหม่ ศูนย์รวมความกินอยู่ที่ดี และศูนย์รวมแห่งความยั่งยืน ที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่าทั้งส่วนที่ได้ทำไปแล้วและกำลังทำอยู่ จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท ภายใน 2-3 ปี ประเทศไทยจะเป็นศูนย์รวมของ 3P คือ People Prospect และ Planet” ม.ล.ชโยทิต หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว.