คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เข้มเฝ้าระวังการรับนักเรียนปีการศึกษา 2566 ป้องกัน “แป๊ะเจี๊ยะ” แนะ สพฐ. ยกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีที่มีเงื่อนไขพิเศษ
วันที่ 29 มี.ค. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ของทุกปี เป็นระยะเวลาที่มีการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาทั่วประเทศ และอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำทุจริตเกี่ยวกับการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา หรือที่เรียกว่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ที่มีมูลค่าสูงกว่าค่าเล่าเรียนหลายเท่าตัวเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนที่มุ่งหวังได้ ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ผิด ยิ่งไปกว่านั้นคือ หลายกรณีพบข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับแป๊ะเจี๊ยะ ใช้อำนาจบีบบังคับให้สถานศึกษารับนักเรียนที่จ่ายเงิน
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่าได้มีการมอบนโยบายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ติดตามเฝ้าระวังปัญหานี้อย่างต่อเนื่องเพราะถือได้ว่าเป็นวงจรส่งเสริมการทุจริต โดยในปี 2562 สำนักงาน ป.ป.ช.ได้มีการผลักดันมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม.ได้รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการ เข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
สำหรับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ต่อ สพฐ. คือ ให้พิจารณายกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทน นอกจากนี้ให้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการรับนักเรียน โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการให้เด็กได้ศึกษาต่อยังสถานศึกษาใกล้บ้าน และทุกสถานศึกษาต้องดำเนินการแจ้งค่าใช้จ่ายและรายละเอียด การเก็บเงินบำรุงการศึกษาให้ผู้ปกครองนักเรียนได้รับทราบไว้โดยชัดเจน
...