“ศรีสุวรรณ” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้อง ผู้ว่าฯ กทม. สอบ “บมจ.แสนสิริ” เรียกเก็บค่าผ่านทางสะพานข้ามคลองพระโขนง จี้ ยุติเรียกเก็บ-ริบเงินคืน ทำประโยชน์สาธารณะ
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอให้ตรวจสอบ กรณีการสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง บริเวณซอยสุขุมวิท 77 เพื่อออกสู่ถนนปรีดี พนมยงค์ 2 ซึ่งเป็นถนนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ภายหลังมีการสร้างเสร็จแล้ว ปรากฏว่า มีการตั้งป้อมเรียกเก็บเงินค่าผ่านทาง โดยรถยนต์ อัตรา 20 บาท และรถจักรยานยนต์ อัตรา 10 บาท โดยมีการเรียกเก็บมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยมี นางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับเรื่องแทน
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตสำนักการโยธา ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ The Base Park East และโครงการ The Base Park West โดยจัดทำรายงาน EIA ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้วทั้ง 2 โครงการ โดยรายงานระบุว่า ในการดูแล บำรุงรักษา ถนนภาระจำยอมบนโฉนดที่ดิน 8 แปลง และสะพานข้ามคลองพระโขนง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคริมถนนนั้น หากเกิดกรณีสะพานชำรุดเสียหาย นิติบุคคลอาคารชุดจะประสานไปยัง สำนักงานเขตวัฒนา เพื่อซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ถือครองกรรมสิทธิ์เองทั้งสิ้น รวมทั้งรับผิดชอบค่าไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดขึ้นในที่ดินภาระด้วย ซึ่งในการขออนุญาตก่อสร้าง บ.แสนสิริ นำที่ดินถนนภาระจำยอมมายื่นร่วมในการขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภาระจำยอมทั้ง 8 แปลง ได้ยินยอมให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้าใช้ประโยชน์ถนนภาระจำยอม เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ผ่านถนนของการทางพิเศษฯ ออกสู่ถนนซอยปรีดี พนมยงค์ 2 ได้ จึงต้องแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบว่า ถนนภาระจำยอมเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 14 ของระเบียบ กทม.ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 2549 เมื่อเปิดใช้สะพานดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กลับมีการตั้งป้อมเรียกเก็บเงินค่าผ่านสะพานและถนนภาระจำยอมดังกล่าว จำนวน 10-20 บาทมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท ดังนั้นสมาคมฯ จึงขอให้ผู้ว่าฯ กทม.ตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งให้ยุติการเรียกเก็บค่าผ่านทาง ตลอดจนให้ยึดเงินเรียกเก็บค่าผ่านทาง ตั้งแต่ปี 58 กว่า 150 ล้านบาท มาใช้ประโยชน์เพื่อการสาธารณะต่อไป ขณะเดียวกันขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการโยธา (สนย.) และสำนักเขตวัฒนา ฐานปล่อยปละละเลยให้มีการเรียกเก็บค่าผ่านทาง รวมทั้งมีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทดังกล่าวหรือไม่ ทั้งๆ ที่ บริษัทจดทะเบียนภาระจำยอมกับทางกรมที่ดินแล้ว.
...