เรื่องของ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยที่ห้าในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ราคาพลังงานจะขึ้นจะลงก็มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและคะแนนเสียงของนักการเมือง มีหลายพรรคที่นำเรื่องของพลังงานไปหาเสียง ส่วนใหญ่จะลดราคา จะชดเชยราคา ที่บางครั้งนโยบายก็สวนทางกับความเป็นจริง การบิดเบือนกลไกตลาด โดยขาดกลยุทธ์และการควบคุม ยิ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีก
ปัจจุบันนโยบายพลังงานแห่งชาติมีกติกาการ กำหนดปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้า แบบ Reserve Margin หรือ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นแผนแม่บทที่ใช้มานานพอสมควร แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทย มีปริมาณโรงไฟฟ้าหมุนเวียนมากขึ้น หมายความว่า เมื่อให้ความสำคัญสถานะของโรงไฟฟ้าหมุนเวียนมากขึ้น ก็เท่ากับว่า การเกิดความไม่เสถียรในระบบก็มีมากขึ้นด้วย
การนำรูปแบบการผลิตแบบ กำลังไฟสำรอง หรือ Reserve Margin มาใช้ จึงไม่สามารถนำมาเป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดความมั่นคงของระบบพลังงานไฟฟ้าอีกต่อไป ซึ่งก็ทราบว่า พลังงานหมุนเวียน ที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม มีข้อจำกัดมากมายและไม่คุ้มทุนด้วยซ้ำการใช้งานก็มีข้อจำกัดเช่นกัน
ระบบกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง เป็นการนำปริมาณที่ใช้ไฟสูงสุดของช่วงเวลา มาคำนวณการใช้ไฟทั้งปี ซึ่งตามความเป็นจริง ความต้องการในการใช้ไฟฟ้า แต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกันมากเช่น เวลากลางวันและกลางคืน ฤดูร้อนฤดูหนาว จึงไม่สามารถมาใช้เป็นมาตรฐานในการคำนวณ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ทั้งประเทศได้
การใช้หลักการคำนวณความเสี่ยงในการใช้ไฟฟ้า ที่เรียกว่าดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ หรือ LOLE เป็นการคำนวณที่น่าจะตรงกับหลักความเป็นจริงมากที่สุดคือเป็นการคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าทุกรูปแบบทุกช่วงเวลา และนำเอาความไม่แน่นอนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาคำนวณด้วย เป็นหลักการคำนวณที่ใช้กันในประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ค่าของ ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานโดยตรง
...
ค่า LOLE บ้านเราควรจะเป็นเท่าไหร่ โดยประเมินจากความคุ้มค่า ทั้งทางเศรษฐกิจและการลงทุน และสามารถนำมาคำนวณ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจในอนาคต ได้ด้วย เช่น ใช้เกณฑ์ โอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่ 0.7 วันต่อปี ซึ่งเราสามารถที่จะนำไปคำนวณเป็นการลงทุนการผลิตไฟฟ้าได้ว่าต้องการปริมาณมากน้อยแค่ไหน โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ 0.1 วันต่อปี ทำให้ต้องมีการสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในการที่จะเกิดไฟฟ้าดับให้น้อยที่สุด เป็นต้น
ปัจจุบันความต้องการพลังงานไฟฟ้าในบ้านเราทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรและการเติบโตภาคอุตสาหกรรม ปีที่ผ่านมามีการเติบโตที่ร้อยละ 2.5 ภาคธุรกิจบริการโตขึ้นร้อยละ 11 จากการคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
การหาเสียงก็ควรจะอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องด้วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th