ขอแสดงความยินดีต่อความสุข เล็กๆน้อยๆของคนไทย ผลการจัดอันดับความสุขระดับโลก 137 ประเทศ ประเทศไทยได้เลื่อน 1 อันดับ จากอันดับที่ 61 มาเป็น 60 เป็นอันดับสามของกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนฟินแลนด์ยังครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 6

ขณะเดียวกัน ต้องขอแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มประเทศที่ถูกระบุว่า “มีความสุขน้อยที่สุด” ได้แก่อัฟกานิสถาน เลบานอน และคองโก ประกาศผลตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ซึ่งถือเป็น “วันแห่งความสุขนานาชาติ” เขาวัดความสุขของประเทศด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่นการสนับสนุนทางสังคม

ตามด้วยรายได้ ความคาดหวังที่จะมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และความรับรู้เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ไทยได้ 5.843 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 สิงคโปร์ได้ 6.587 มาเลเซีย 6.012 การวัดความยากจนของสหประชาชาติ นอกจากจะวัดด้วยรายได้แล้ว ยังวัดด้วยการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุขและความเป็นธรรมในสังคมด้วย

ทำให้ความยากจนมีหลายมิติ ไม่ได้วัดกันที่รายได้อย่างเดียว แต่การวัดความสุขวัดด้วยปัจจัยที่เรียกว่า “การสนับสนุนทางสังคม” ไม่ทราบหมายถึงอะไรบ้าง น่าสงสัยว่าอาจวัดความสุขของประเทศ ด้วยความเหลื่อมล้ำด้วย คะแนนและอันดับของไทยจึงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

มีข้อมูลระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูง ธนาคารสวิสเคยยกให้ไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับ แต่ข้อมูลจากองค์กรของไทยระบุว่า รายได้ของประชากรที่มีรายได้สูงสุด 1% ของประเทศรวมกันเป็น 25% ของรายได้ประชากรทั้งประเทศ ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆมีเพียง 5% ของทั้งหมด แต่มีส่วนแบ่งรายได้ถึง 85 % ของการผลิตนอกภาคเกษตร

...

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ที่ทำให้ไทยเป็นสังคม “รวยกระจุก จนกระจาย” อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขน้อย ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ อาจกลายเป็นเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ที่จะได้รับบริการด้านสาธารณสุข และการศึกษา เป็นเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจและศักดิ์ศรี

แต่น่าแปลกใจ พรรคการเมืองต่างๆที่กำลังแข่งกันรณรงค์หาเสียงอย่างดุเดือดเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เน้นนโยบายประชานิยม เพื่อแจกเงินบรรเทาความเดือดร้อนเล็กๆน้อยๆ ไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน.