ประเทศไทยนอกจากจะมีพรรคการเมืองมากที่สุด เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญฉบับพิสดารแล้ว ยังอาจจะเป็นประเทศที่มีการร้องให้ยุบพรรคมากที่สุดด้วย สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการเมืองไทย เป็นไปตามแนวทางอำนาจนิยม ข้อมูลจาก กกต.ระบุว่า นับแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2565 มีการร้องให้ยุบพรรคถึง 88 เรื่อง

การร้องเรียนให้ยุบพรรคเป็นไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 เนื่องจากถูกกล่าวหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย แต่ปล่อยให้ “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ เป็นต้น

เห็นได้ชัดว่า เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูล เป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองมากกว่า กกต.จึงได้ยุติการพิจารณา 27 เรื่อง อยู่ในระหว่างการพิจารณา 61 เรื่อง มีพรรคที่ถูกร้องให้ยุบพรรค 25 พรรค พรรคที่ถูกร้องมากที่สุด คือพรรคเพื่อไทย 33 เรื่อง พรรคพลังประชารัฐ 15 เรื่อง

นอกจากพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคแล้ว ยังมีพรรคอื่นๆถูกร้องเกือบจะถ้วนหน้า แม้แต่พรรคเล็กพรรคจิ๋ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แก้ไขระเบียบใหม่ ทำให้การยุบพรรค รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่มีเสียงวิจารณ์จากนักรัฐศาสตร์ เกินเลยหน้าที่ กกต.หรือไม่

นักวิชาการวิจารณ์ว่า หน้าที่หลักของ กกต.คือการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรม กกต.ไม่ควรเน้นการกำกับดูแล หรือควบคุมพรรคการเมือง เพราะการจัดตั้งพรรคเป็นเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตั้งพรรคหรือร่วมกิจกรรมพรรค

ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีเสียงเรียกร้องกันว่า พรรคจะต้องเป็น “สถาบันทางการเมือง” ที่มีเสรีภาพ เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด จนประชาชนมีความรู้สึกเป็น “เจ้าของพรรค” คำว่า “สถาบันการเมือง” ไม่ได้หมายแค่เป็นพรรคที่เก่าแก่ และพรรคต้องยึดแนวทางเสรีนิยม

...

ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ไม่มีการลงโทษยุบพรรค เพราะถือเป็นเสรีภาพประชาชน อาจมีบางประเทศที่ให้ยุบพรรค ที่มีนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยชัดแจ้ง แต่กฎหมายไทยกลับยึดแนวทางอำนาจนิยม เปิดช่องให้มีการร้องเรียนยุบพรรค ด้วยข้อหาปล่อยให้คนนอกครอบงำ กลายเป็นเครื่องมือทำลายทางการเมือง.