“พลเอกประวิตร” ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สั่งเร่งยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เสริมโครงข่ายระบบคมนาคม พัฒนาความมั่นคงระบบไฟฟ้า

วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 9.00 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco Webex Meetings โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รองประธานกรรมการ และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ที่ประชุมเห็นชอบการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง (PM 2.5) ในสถานการณ์วิกฤติ ในพื้นที่ 17 จังหวัด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รายละเอียดตาม one page นอกจากนี้ เห็นชอบให้ประกาศ กำหนดให้กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล ทุกขนาด ต้องจัดทำรายงาน EIA เนื่องจากโครงการประเภทนี้ ไม่ว่าขนาดความยาวเท่าใด มีผลกระทบต่อการสูญเสียชายหาดและระบบนิเวศด้านหน้าของโครงสร้าง และมีการกัดเซาะต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียง ประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุมกำกับโครงการดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของผู้ร้องเรียน ทั้งนี้ ก่อนการจัดทำ EIA โครงการต้องผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการ และได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก่อน พร้อมทั้งได้เห็นชอบรายงาน EIA ด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้านโครงการอาคารฯ ด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ และด้านโครงการพลังงาน รวม 10 โครงการ เช่น โครงการทางเลี่ยงเมืองสกลนคร โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี และแผนงานขยายเขตไฟฟ้า

...

ให้หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่อำเภอปายและอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น รวมทั้งที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ ทส. ฉบับใหม่ 2 ฉบับ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ จังหวัดภูเก็ต และบางพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นกลไกทางกฎหมายสำหรับช่วยอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนแผ่นดินและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ต่อเนื่องจากประกาศฯ ฉบับเดิม

หลังจากนั้น เวลา 11.00 น. รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) เป็นประธานการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2566 โดยส่งเสริมให้มีการทำเหมืองอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาแร่อย่างยั่งยืน.