ปัญหาใหญ่สำหรับ “หน่วยงานราชการกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ล่าช้า” เมื่อปรากฏพฤติกรรมพ่อค้าเกเรขี้แพ้แล้วชวนตี “ยื่นอุทธรณ์เพื่อกลั่นแกล้ง” อันส่งผลให้ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถเริ่มงานได้

กระทั่งปัจจุบัน “การอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560” อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียนมีปริมาณมากขึ้น “จำนวนนี้เป็นการอุทธรณ์ไม่สมเหตุผลเกินกว่าครึ่ง” จนการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐล่าช้า สร้าง ความเสียหายมากมาย

ดร.มานะ นิมิตรมงคล
ดร.มานะ นิมิตรมงคล

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น “หน่วยงานภาครัฐ” ต้องเขียนรายละเอียดในโครงการต่างๆ ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา อนุมัติแล้วร่างขอบเขตงาน (TOR) เป็นเงื่อนไขแสดงข้อมูลรายละเอียดประกาศการประกวดราคากันขึ้น

...

แต่การจัดซื้อจัดจ้างในระบบราชการแยกเป็น 2 ประเภท คือ 1.วัสดุใช้งานทั่วไป สำหรับประเภทนี้ “กรมบัญชีกลาง” จะกำหนดสเปกสินค้าไว้ อยู่แล้ว 2.สินค้าบริการอย่างอื่นเกิน 5 แสนบาท ต้องเปิดซองประมูลแข่งขัน 2 แบบ คือ แบบแรก...“การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ” ในเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ

กรณีแรก...“ส่วนราชการกำหนดบริษัท” เสนอคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษพิจารณาคัดเลือก กรณีที่สอง...“จัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีเจาะจง” หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขรายใดรายหนึ่ง เพื่อเข้ายื่นข้อเสนอ หรือเข้าเจรจาต่อรองราคา หรือการจัดซื้อจัดจ้าง พัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรง

ต่อมาแบบที่สอง...“การประมูลทั่วไป” ด้วยการเชิญชวนผู้ประกอบการ ทั่วไปที่มีคุณสมบัติตามกำหนดเข้ายื่นข้อเสนอราคา 3 วิธี เช่น 1.วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ 2.วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ 3.วิธีสอบราคา

เมื่อได้ผู้ชนะการประมูลแล้วก็ทำสัญญาเริ่มทำงานตามโครงการที่เรียกว่า “การบริหารสัญญา” ผู้ชนะประมูลมีหน้าที่ทำตามสัญญา เช่น “งานก่อสร้างตึกอาคาร หรือถนน” สัญญามักสิ้นสุดเมื่อตรวจส่งมอบงานเสร็จแล้ว แต่โครงการบางประเภทอย่าง “สัญญาสัมปทาน” การบริหารสัญญามักบังคับตลอดอายุสัมปทานนั้น

ทว่าก่อนทำสัญญาระหว่างภาครัฐ และผู้ชนะประมูลนั้น “ต้องรอการ อุทธรณ์” ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ กล่าวคือหน่วยงานของรัฐปิดประกาศผลผู้ชนะโดยเปิดเผยที่หน่วยงานนั้น

การลงนามในสัญญาจะทําได้เมื่อพ้นระยะอุทธรณ์ และไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ตามมาตรา 117 หรือกรณีมีการอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯให้จัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้ เว้นแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจําเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 หรือการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือการจัดซื้อที่มีวงเงินเล็กน้อยตามมาตรา 96 วรรคสอง

เรื่องนี้กลายเป็น “ช่องโหว่การยื่นอุทธรณ์เพื่อกลั่นแกล้งอันเป็นปัญหา ใหม่สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” เพราะเมื่อมีการยื่นอุทธรณ์แล้วหน่วยงานภาครัฐต้องหยุดทำสัญญากับผู้ชนะประมูลชั่วคราว นั่นก็เป็นผลทำให้ผู้ชนะ ไม่อาจบริหารสัญญาหรือจัดซื้อจัดจ้างตามสัญญาจนกว่าคณะกรรมการฯจะพิจารณาอุทธรณ์แล้วเสร็จ

ผลก็คือเกิดความล่าช้าในการดำเนินการจัดซื้อวัสดุตามโครงการ “ไม่ทันต่อความจำเป็นเพื่อบริการประชาชน” ทำให้ใช้เงินไม่ทันปีงบประมาณกลาย เป็นสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานภาครัฐอย่างมากนี้

ปัจจุบันเพียงแค่ปีงบประมาณ 2565 “มีผู้ยื่นอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้าง 2,046 เรื่อง” แถมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี สิ่งที่น่ากังวลคือมีเพียง 415 เรื่อง หรือ 1 ใน 5 เท่านั้นที่อุทธรณ์แล้วชนะ หรือมีเหตุผลสามารถฟังขึ้น

ปัจจัยการยื่นอุทธรณ์ อย่างเช่น “ผู้อุทธรณ์เห็นว่าหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามทีโออาร์ หรือมีการตีความไม่เป็นธรรม” เพราะหน่วยงานของรัฐจัดจ้างแจ้งเหตุผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาไม่ชัดเจน

หากเป็นกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอผ่านการพิจารณาไม่ได้รับการคัดเลือก “หน่วยงานของรัฐ” ก็ไม่แจ้งเหตุผลเพิ่มเติม ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอสงสัยว่าหน่วยงานพิจารณาไม่โปร่งใส ไม่สุจริต หรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น เป็นเหตุให้ไม่ได้รับการประกาศผลเป็นผู้ชนะ หรือไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ

ปัญหามีอยู่ว่า “ผู้อุทธรณ์จำนวนไม่น้อยมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ต้องการกลั่นแกล้งผู้ชนะประมูล หรือเจ้าหน้าที่รัฐ” ในเรื่องเจตนาไม่สุจริตอาจเกิด จากแรงจูงใจได้หลายอย่าง เช่น ขี้แพ้แล้วชวนตี กลั่นแกล้ง เพราะพวกตนพยายามล็อกสเปก หรือจัดฮั้วประมูลแต่ฮั้วแตก หรือผู้ชนะการประมูลไม่ใช่พวกของตน

ทั้งยังมีการทุจริต การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ หรือผู้เกี่ยวข้อง ในการประมูล รวมถึงผู้อุทธรณ์ข้องใจว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน กฎ ระเบียบ ในช่วงใดช่วงหนึ่งของการประมูล

“สิ่งนี้เป็นรูปแบบการต่อสู้ทางเทคนิค เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประมูลคนอื่นได้รับความเดือดร้อน หรือทำให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่สนับสนุนช่วยเหลือพวกเขานั้นต้องเกิดความยุ่งยากต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่จำเป็น แล้ววิธีการยื่นอุทธรณ์เพื่อกลั่นแกล้งกันนี้กำลังถูกใช้มากขึ้นในวงการการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ” ดร.มานะว่า

ประเด็นน่าสนใจช่วงไม่กี่ปีมานี้ “การคอร์รัปชันจัดซื้อจัดจ้างมีความซับซ้อนมากขึ้น” แต่เดิมมักเป็นการฮั้วเกิดขึ้นได้จาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นผู้กำหนดวิธีการเลือกให้เอกชนรายใด “เป็นผู้ชนะ” โดยนักการเมืองบางคน วางตัวเป็นบ้านใหญ่ชอบทำกันมาก หรือเจ้าหน้าที่รัฐจับมือกับเอกชน และวิธีนี้ปั่นราคาทำกำไรได้มากที่สุด

แต่ปัจจุบันนี้ “ภาคเอกชนจัดฮั้วประมูลกันเอง และจัดฮั้วโดยคนนอกที่มีอาชีพจัดฮั้วโดยตรง” อย่างเช่น กรณีเกิดขึ้นบ่อยในต่างจังหวัดคือ “กินค่าฮั้ว” เน้นงานก่อสร้างผู้ยื่นซองประมูลราคามักจะนัดหมายตกลงกัน “จ่าย เปอร์เซ็นต์ให้ผู้ประมูลรายอื่น” เพื่อแลกงานประมูลโครงการที่จะได้รับนั้น

ตอกย้ำด้วย “จับฮั้วเพื่อแบ่งงาน” เป็นการตกลงกันล่วงหน้าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในการประมูลแต่ละโครงการ รวมถึงตกลงราคากันด้วยว่าควรเป็นเท่าไหร่ สิ่งนี้ทำให้ “ผู้ฮั้วชนะการประมูลแบบไม่โปรงใส” มักนำไปสู่ การเรียกรับผลกำไรจากการลดสเปก หรือโกงในงานโครงการให้มากที่สุด เพื่อ จะได้คุ้มค่ากับการลงทุนไปนั้น

ผลลัพธ์มักตกอยู่ที่ “ผลประโยชน์ของชาติที่ควรได้รับ” สังเกตจากถนนหนทางสิ่งปลูกสร้างหลายจุด “พังชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ” มีแม้แต่ บางโครงการดำเนินงานไม่เสร็จเพราะผู้รับเหมาเจ๊งขาดทุนเสียก่อนก็มี

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “การคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ” ค่อนข้างล้ำหน้าไปไกลเกินกว่าจะสามารถควบคุมได้แล้วด้วยซ้ำ “การฮั้ว” ทำให้เกิดการผูกขาดตลาดโดยคนกลุ่มหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรมที่เป็นมหันตภัยต่อการพัฒนาประเทศ “การจัดประมูลราคา” จึงจำเป็นต้องมีกติกา และมีการเปิดเผยวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน

เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า “เงินของแผ่นดินจะถูกใช้คุ้มค่า” เอกชนทุกรายสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้อย่างเสรี และเป็นธรรม เรื่องนี้ถ้าไม่สังคายนาการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะมีปัญหามากยิ่งขึ้น

เช่นนี้ “พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ” ต้องวางหลักเกณฑ์ให้ผู้ยื่นเสนอทุกรายในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนั้นมีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ แล้วให้ “คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ” ที่มีตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการนั้น เพื่อสร้างหลักประกันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะได้เปิดให้แข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม

แล้วผู้ประกอบการทุกรายจะได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างเปิดเผยและเท่าเทียม

สำหรับการลดปัญหานี้คณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อฯ กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวทางการร่าง TOR

ให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นแนวทางชัดเจน นอกจากนี้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อฯ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน เช่น ให้ผู้อุทธรณ์ต้องวางเงินประกันจำนวนหนึ่ง

บทส่งท้ายระยะยาว “ภาครัฐ” ต้องสร้างมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจตรงไปตรงมา มีกลไกเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสทุกคนเข้าถึง “ตรวจสอบย้อนหลังได้ง่าย” เชื่อว่าปัญหาและภาระจะลดลง.