มติคณะรัฐมนตรีที่ประกาศพระราชกำหนด เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน เป็นหลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่ารัฐบาลอำนาจนิยมไม่สนใจการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้รอดพ้นจาก การถูกซ้อมทรมาน หรือการกระทำที่โหดร้าย การอุ้มฆ่า และการยํ่ายีศักดิ์ศรีมนุษย์
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาตั้งแต่ปลายปี 2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่รัฐบาลกลับประกาศใช้ พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ออกไป 7 เดือน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงมี 19 องค์กรสิทธิมนุษยชน และพรรคฝ่ายค้านออกมาคัดค้าน
องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง ส.ส. ไม่ให้อนุมัติ พ.ร.ก.ของรัฐบาลที่ให้เลื่อนการใช้ 4 มาตราออกไปตามความ ต้องการของฝ่ายตำรวจ โดยอ้างว่ายังไม่มีอุปกรณ์ในการบังคับใช้ เช่น ตำรวจต้องบันทึกภาพและเสียงตลอดเวลา ทั้งการตรวจค้น จับกุม การควบคุมตัวผู้ต้องหา รวมทั้งแจ้งฝ่ายปกครองและอัยการ
มีเสียงทักท้วงว่าถ้าไม่มีกล้องบันทึกภาพและเสียง จะใช้โทรศัพท์มือถือก็ได้ และเมื่อมีการจับกุมแล้ว ให้ตำรวจแจ้งฝ่ายปกครอง เช่น นายอำเภอ และอัยการ ก็สามารถแจ้งได้ทันที ให้ทั้งสองฝ่ายรับทราบ เพื่อถ่วงดุลฝ่ายตำรวจ รวมทั้งแจ้งญาติผู้ต้องหาและทนายความ เพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิด “การอุ้มหายตัว”
ตำรวจไทยเป็นยอดปาฏิหาริย์ สามารถ “อุ้ม” ให้บุคคลสูญหายได้ และอาจทำให้ผู้ต้องหาสิ้นลมหายใจได้ ในขณะที่ถูกสอบสวนกลายเป็นคดีที่โด่งดังที่นครสวรรค์ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนายตำรวจหลายนายกลายเป็นจำเลยเสียเอง จากผลการใช้ถุงคลุมศีรษะผู้ต้องหา ที่ถูกสอบสวนคดียาเสพติด
พรรคร่วมฝ่ายค้านระบุว่า การเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานไปอีก 7 เดือน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง รัฐธรรมนูญระบุว่าในคดีอาญา ให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่มีความผิด ก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะกระทำต่อผู้นั้นเสมือนผู้ทำผิดมิได้
...
รัฐธรรมนูญบัญญัติด้วยว่าการทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ การประกาศเลื่อนบังคับใช้ร่างกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือน อาจเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนไทยตัดสินใจเลือกฝ่ายใด.