หัวใจ 4 ห้องเต้นพร้อมกันมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง

เป็นคำเปรียบเปรยให้เห็นถึงมุมคิดของ นายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา และผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ฟันธงเปรี้ยงตัวบ่งชี้ 4 ปัจจัยสำคัญนำไปสู่ชัยชนะ

กระแส-นโยบาย-ตัวบุคคล-ทรัพยากรการเมือง

แน่นอนกระแสโพลสำรวจความนิยมของพรรคการเมืองและคนที่เป็นนายกฯ เป็นหนึ่งในสี่ปัจจัยนั้น

ตั้งแต่ทำมาเห็นภาพความนิยมของพรรคเพื่อไทย (พท.) และ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ค่อยๆไต่อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ

พอท้ายปี 65 พท.พุ่งขึ้นอีกหน่อย พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากไม่มีแต้ม พอมีข่าวกระเซ็นว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มาอยู่ด้วย จากศูนย์จุดกว่าๆ ขยับขึ้นเกือบ 7%

“อุ๊งอิ๊ง” จาก 12-21-25-34% พท. 25-36-34-42% ต่างกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ “ทิม” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า ก.ก. คะแนนถูกแช่แข็งวนอยู่ระหว่าง 13-17%

...

กก.แม้ทำหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบในสภาได้ดีมาก แต่เขาเป็นพรรคที่มีแฟนคลับประจำ คล้ายแท็งก์น้ำมีขนาดชัดเจน เมื่อน้ำเต็มแท็งก์แล้วไม่ค่อยมีน้ำใหม่จากที่อื่นเข้ามาใส่

แม้กลุ่มอายุ 18-35 ปี ยังเหนียวแน่น พอขยับขึ้นอายุ 36 ปีขึ้นไปก็ไหลออกจากแท็งก์ คะแนนหล่นฮวบเลย ก็ต้องยอมรับว่า ก.ก.มีความเป็นลิเบอรัลพรรคเดียว และบางประเด็นที่ล่อแหลม มันทำให้กลุ่มคอนเซอร์เวทีฟ ประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 80% ไม่สามารถเข้าร่วมด้วยได้

ต่างกับพรรคการเมืองที่เหลือเป็นคอนเซอร์เวทีฟ มีตั้งแต่เอกซ์ตรีม-ขวาจัด รวมถึง พท.อยู่ในกลุ่มนีโอคอนเซอร์เวทีฟ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็กลุ่มคอนเซอร์เวทีฟใหม่ เดินสายกลางก้าวข้ามความขัดแย้ง

พปชร.คะแนน 7% พอมีกระแส “บิ๊กตู่” ไป รทสช. ลดเหลือ 4-5% พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อยู่แถว 6-7%

เมื่อเจาะกลุ่มแรกอายุ 18-25 ปี และกลุ่มสอง 26-35 ปี ไตรมาสแรก/65 เทียบกับไตรมาสสี่/65 ปรากฏว่ากลุ่มแรก “อุ๊งอิ๊ง” คะแนนพุ่งเกือบเท่า “ทิม” และกลุ่มสอง “อุ๊งอิ๊ง” ชนะ “ทิม”

เด็กที่ยังไม่ตัดสินใจ-กลุ่มสองเริ่มเทมาที่ พท.

ทั้งหมดเป็นการยกผลสำรวจโพลให้เห็นเทรนด์ทางการเมือง เปลี่ยนตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง

อย่าง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งไม่สมควรเป็นพื้นที่ที่ “อุ๊งอิ๊ง” และ พท.มีคะแนน เพราะไม่เคยได้ ส.ส. ปรากฏว่าคราวนี้คะแนนคนรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่มและภาพรวมยกจังหวัด “อุ๊งอุิ๊ง” ทิ้งห่าง “ทิม” ดูตามกระแสมีโอกาสได้ 0-2 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง รทสช.กับ ปชป. มี พท.เข้ามาผสมโรง

พท.กระแสแรงมาก แต่ยังไม่แลนด์สไลด์

ภาพรวมยังที่ 42% ประมาณ 210-230 ที่นั่ง รอยุบสภา และอาจยังไม่มีการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง นิด้าโพลพยายามสำรวจทั่วประเทศ 2-3 รอบก่อนเลือกตั้งให้เห็นภาพชัดเจนอีกครั้ง และขอเน้นไปที่ กทม. 33 เขต

มีการปลุกกระแสเอานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้าน ปะทะกระแสไม่เอา “บิ๊กตู่” เพื่อเดินไปสู่ยุทธศาสตร์ต่อสู้ทางการเมือง 2 ขั้ว มีโอกาสเกิดแลนด์สไลด์แค่ไหน นายสุวิชา บอกว่า ต่างฝ่ายต่างแก้เผ็ดปล่อยกระแสออกมา พร้อมชี้ให้เห็นถึงผลลบของอีกฝ่าย เพื่อไม่ให้ไปเลือกฝ่ายนั้น

“รอให้พรรคการเมืองปริปากว่ามีนโยบายอะไร จะทำอย่างไร สมมติ พท.ประกาศเอานายทักษิณกลับมา...มีปัญหาแน่! คะแนนร่วงชัวร์

แต่ถ้านายทักษิณประกาศว่า ผมพร้อมกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยอมติดคุก ผลลัพธ์ทางการเมืองก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ต้องดูกระแสที่แปรเปลี่ยนไป เป็นอย่างไร แต่ผมว่าแกไม่ประกาศหรอก”

ขณะเดียวกันปัจจัยที่สอง ตัวนโยบาย ก็สำคัญ ตอนนี้พรรคการเมืองทยอยเปิดกันใหญ่ ปัจจัยที่สาม ตัวบุคคล จากบ้านเล็ก บ้านใหญ่ มีศักยภาพแค่ไหน เป็นดาวฤกษ์หรือไม่ และปัจจัยสุดท้าย ทรัพยากรทางการเมือง

ในเขตเมืองใหญ่บางเมืองและกรุงเทพฯ ที่ชี้วัดกันผ่านนโยบายและกระแส ที่เหลือตัดสินกันที่ตัวบุคคลและทรัพยากรทางการเมือง

บรรดาพรรคการเมืองมี 4 ปัจจัยไม่เท่ากัน อาทิ พปชร. มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นหัวหน้า พรรคภูมิใจไทย มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขและรองนายกฯ เป็นหัวหน้า มีกระแสน้อย นโยบายพยายามสร้างกันอยู่ แต่มีปัจจัยที่สามและปัจจัยที่สี่เยอะมาก

ต่างกับ ก.ก. มีเฉพาะกระแสและนโยบาย ส่วน พท. กระแสแรงแน่นอน นโยบายมี ตัวบุคคลบ้านใหญ่ พวกดาวฤกษ์ก็เยอะ แต่เอาคนเหล่านี้บางส่วนออกไป เปิดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาแทน ซึ่งคนที่ยอมก็ขึ้นบัญชีรายชื่อ คนที่ไม่ยอมก็ฉีกตัวเองไปอยู่พรรคอื่น ปัจจัยที่สี่มีแน่ แต่หัววาล์วเปิดๆ ปิดๆ ระวังหัววาล์วเสียได้

รทสช.ขี่กระแสมาพร้อม “บิ๊กตู่” นโยบายยังไม่เห็น นอกจาก “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เหมือนเพลงของพรรคกิจสังคม “เราทำได้ ได้ทำแล้ว และทำต่อไป” ตัวบุคคลก็พยายามมีบ้านใหญ่ ดาวฤกษ์ แต่มันยังน้อย ปัจจัยที่สี่ไม่ทราบมีเยอะขนาดไหน คาดมีเยอะพอสมควร

ขอย้ำผลโพลหรือกระแสเป็นแค่หนึ่งในสี่ปัจจัย

ทรัพยากรทางการเมืองมีน้ำหนักมากกว่าเยอะ

ผลโพล ณ วันนี้ รวมกับอีกสามปัจจัยสำคัญชี้ให้เห็นว่าแคนดิเดตนายกฯ มีลุ้นกี่คน นายสุวิชา บอกว่า 4 คนที่มีโอกาสเป็นนายกฯ

“บิ๊กป้อม-อุ๊งอิ๊ง-บิ๊กตู่-เสี่ยหนู”

คนที่มีโอกาสสูงสุด คือ “บิ๊กป้อม”

ตอบโดยไม่สนใจโพล เพราะเวลาเลือกนายกฯ ส.ส.ในสภาเป็นคนโหวต มันอยู่ที่ดีลหลังบ้านทั้งหลาย

พปชร.เข้าฝั่งไหนก็ได้ พยายามทำตัวเป็นโซ่ทองข้อกลาง โชว์นายกฯ ก้าวข้ามความขัดแย้ง

“พท.มีโอกาสแลนด์สไลด์อย่างมากไม่เกิน 270 คน ไม่ทะลุไปมากจนกระทั่งไม่อาศัยเสียง ส.ว. สุดท้ายต้องอาศัยเสียง ส.ว.โหวต

มีลุงป้อมคนเดียวที่คุมเสียง ส.ว. และคุยรู้เรื่อง ส.ว.ประกาศชัดเจนขอเลือก 2 ลุงเท่านั้น ขอมองข้ามช็อต พท.ก็คุยกับลุงป้อมรู้เรื่อง ฉะนั้นต้องอาศัยเสียงลุงป้อมจับมือร่วมรัฐบาล

ภายใต้ พปชร.มีจำนวน ส.ส.ขั้นต่ำ 50-60 คนถึงต่อรอง พท.ได้ ตอนนี้ พท.อาจไม่กล้าพูดว่ายินดีรับ พปชร. เพราะกลัวเสียคะแนน แต่คนทั้งประเทศเริ่มเชื่อแล้ว”

สี่ปัจจัยสำคัญทำให้เป็นนายกฯ คนต่อไป ตอนนี้มี 4 แคนดิเดตนายกฯ ใครมีโอกาสสูงสุด นายสุวิชา บอกว่า “บิ๊กตู่” ไม่มีสิทธิ์!!

แต่ถ้าจะกลับมาเป็นได้ต้องอยู่บน 3 เงื่อนไข พรรคร่วมรัฐบาลเดิมชนะฝ่ายค้านเดิม “บิ๊กตู่” มีคะแนนมากกว่า “บิ๊กป้อม” ไม่เช่นนั้น “บิ๊กป้อม” ไม่ยอม “บิ๊กตู่” ต้องมีคะแนนไล่เลี่ยหรือห่างหรือน้อยกว่า “เสี่ยหนู” ไม่เกิน 10 ที่นั่ง ไม่อย่างนั้น “เสี่ยหนู” ไม่ยอม

สมมติ “บิ๊กป้อม” มีคะแนน พปชร.มีมากกว่า รทสช. “บิ๊กป้อม” บอก “น้องตู่” ขอเป็นนายกฯ เอง แกรอมานานแล้ว รับรองเป็นเองแน่นอน

ยกเว้น “เสี่ยหนู” ตัดสินใจจับมือ “บิ๊กตู่” แบบนี้เกิดแตกหัก 2 ป. “บิ๊กป้อม” หักน้องกระโดดปุ๊บไป พท. ในทางการเมืองเป็นไปได้หมด พท.เสนอเก้าอี้นายกฯให้ “บิ๊กป้อม”

ขณะเดียวกัน เมื่อไปดูผลสำรวจโพล จ.ชลบุรี และ จ.นครศรีธรรมราช “บิ๊กป้อม” เริ่มเข้าสู่ลู่แข่งขันถือว่าไม่ธรรมดา คะแนนตัวบุคคลเริ่มมา

“หลังจากที่ไปทำ ทรงอย่างแบดทั้งหลาย เสื้อลุงป้อมมันสร้างคะแนน ตัวแรกลายมังกรที่สวมไปเดินเยาวราช อีกยี่ห้อใส่ไปเดินเสาชิงช้า ต้องหามาใส่บ้าง

การไปเดินตลาดมันสร้างกระแสดีเหมือนกัน พอเดินก็มีคนมาถ่ายรูป ถ่ายเซลฟี ไม่นับเวลาที่ พปชร. จัดให้เดิน มีแฟนคลับเข้ามาหอมแก้ม

ฉะนั้นรอหลังยุบสภา เตรียมสำรวจกระแสทางการเมืองทั่วประเทศอีกครั้ง ไม่รู้ความนิยมเพิ่มเป็นเท่าไหร่”

วันนี้ “บิ๊กป้อม” มีภาษีสูงสุด ถ้าจับมือ พท.

ทีมการเมือง