"นฤมล" ตอกย้ำไม่ควรยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ เน้นบริหารตามกฎหมายช่วยป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 66 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ย้ำถึงทิศทางการบริการจัดการราคาพลังงานโดยระบุว่า "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศก็ปรับสูงขึ้นตาม กองทุนฯ ก็จะนำเงินมาช่วยจ่ายชดเชยราคา เพื่อตรึงให้ราคาขายปลีกไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากและเร็วเกินไป ส่วนช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง รัฐบาลก็จะเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ไปชดเชยกับเงินที่จ่ายไปตอนราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น
ศ.ดร.นฤมล ระบุต่อว่า แนวคิดในการยกเลิกกองทุนฯ ที่บางฝ่ายเสนอนั้น จึงไม่เหมาะสมเพราะเท่ากับการทำลายกลไกป้องกันความเสี่ยง จากความผันผวนของราคาขายปลีกน้ำมัน ทำนองเดียวกันแนวคิดที่จะให้งดการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับน้ำมันบางประเภทเป็นการชั่วคราว ก็จะสร้างปัญหาเช่นกัน เพราะถึงแม้จะทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันประเภทนั้นลดลงทันที แต่เมื่อระยะเวลางดการจัดเก็บเงินสิ้นสุดลง ก็ต้องกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนฯ อีกครั้ง คราวนี้ราคาขายปลีกของน้ำมันประเภทนั้น จะดีดตัวสูงขึ้นทันที ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อและราคาสินค้าต้องดีดตัวขึ้นสูงตาม ทำให้เกิดช็อกในระบบเศรษฐกิจถ้าไม่ควรยกเลิก และไม่ควรงดการเก็บเงินกองทุนฯ แล้วทางออกคืออะไร
"คำตอบคือต้องย้อนกลับไปดูที่วัตถุประสงค์และประโยชน์ของการมีกองทุนฯ นี้กันอีกครั้ง นั่นคือมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่พอย้อนดูการใช้เงินกองทุนฯ ที่ผ่านมา พบว่าไม่ได้นำไปใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเท่านั้น แต่ถูกนำไปใช้อุดหนุนราคาก๊าซ LPG สูงถึง 9.0486 บาทต่อกิโล (จากโครงสร้างราคา ณ วันที่ 24 ก.พ. 66) เพราะใช้กันทุกครัวเรือน รวมตลอดถึงร้านอาหาร รัฐบาลจึงพยายามรักษาราคาให้ต่ำไว้เพื่อไม่ให้กระทบครัวเรือนรายได้น้อยจำนวนมาก" ศ.ดร.นฤมล ระบุ
...
ศ.ดร.นฤมล ระบุต่อว่า แต่การอุดหนุนราคาจนราคาบิดเบือนไปจากราคาตลาดมากและเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ทำให้พฤติกรรมผู้ใช้พลังงานบิดเบือนตามไปด้วย จนถึงขนาดมีการดัดแปลงรถยนต์ราคาแพงมาใช้แก๊สแทนน้ำมัน ทางออกจึงต้องหันกลับมาทบทวนมาตรการการอุดหนุนที่เหมาะสม คือ การช่วยเหลือกลุ่มที่ควรได้รับการช่วยเหลือเป็นสำคัญ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางเฉพาะอื่นๆ ด้วยการตั้งงบประมาณแยกเฉพาะ จะได้ช่วยให้ถูกฝาถูกตัว
ศ.ดร.นฤมล ระบุต่อว่า นอกจากนั้น บางห้วงเวลา เงินกองทุนฯ ยังถูกนำไปปรับลดราคาขายของแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอล ซึ่งผลิตจากกากน้ำตาลหรือมันสำปะหลัง และไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม เหตุที่เอาเงินกองทุนฯ ไปแทรกแซงราคาให้ต่ำ ก็เพื่อทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันชนิดนี้มากขึ้น และมองว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่การสนับสนุนเกษตรกรไม่ควรส่งผลให้เกิดการบิดเบือนราคาจนเกินพอดี และทางออกคือควรตั้งงบประมาณอุดหนุนเกษตรกรแยกออกไปจากกองทุนฯ เพื่อจะได้สามารถติดตามตรวจสอบว่าเกษตรกรได้รับประโยชน์จริง
"ฉะนั้นควรดำรงกองทุนฯ ไว้ แต่เก็บเงินเข้ากองทุนฯ เท่าที่เพียงพอสำหรับการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมัน ปรับลดการบิดเบือนของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ให้เร็วและเหมาะสมที่สุด วิธีนี้จะสามารถทำให้เม็ดเงินที่จำเป็นต้องจัดเก็บเข้ากองทุนฯ ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงทันที" ศ.ดร.นฤมล ระบุ
ศ.ดร.นฤมล ระบุอีกว่า อนึ่ง การที่เงินกองทุนน้ำมันถูกนำไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติได้ผ่านพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักไว้ประการเดียวในมาตรา 5 คือ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น พร้อมทั้งกำหนดให้มีการยกเลิกการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ก็มีบทเฉพาะกาล ตามมาตรา 55 ที่ยังคงให้มีการชดเชยต่อไปอีก 3 ปี และสามารถขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี นั่นคือ สามารถขยายระยะเวลาชดเชยต่อไปได้อีก จนถึงเดือนกันยายน 2569 เท่านั้น หลังจากนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว