"ธนกร" ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะที่ขอนแก่น ชี้ ศักยภาพสูง เชื่อมโยงประเทศอื่นในภูมิภาค สร้างเศรษฐกิจให้อีสานและประเทศมหาศาล โว "บิ๊กตู่" มุ่งพัฒนา ทำหลายสิ่งให้ประเทศ และจะทำต่อ

วันนี้ (23 ก.พ. 2566) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และคณะผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ที่โรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมี นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และชาวขอนแก่นให้การต้อนรับ พร้อมนำชมห้องเรียนอัจฉริยะ นิทรรศการเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นโลคาร์บอน กองทุนตั้งตัว สาธิตการเตรียมพร้อมป้องกันเหตุร้ายในสถานศึกษา

นายธนกร ระบุว่า จังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง ทั้งผู้คน ธุรกิจ การศึกษา อุตสาหกรรม การเกษตร การแพทย์ และการคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงประเทศอื่นในภูมิภาค สามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับภาคอีสานและประเทศไทยอย่างมหาศาล รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่คัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบด้วยกัน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยการนำเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน เป็นการสร้างเมืองที่จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการจัดสมดุลของสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานและเลือกใช้พลังงานสะอาด เทศบาลนครขอนแก่น ได้ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการระหว่างคน เมือง และเทคโนโลยี มีความอัจฉริยะและสมดุลใน 7 ด้าน ประกอบด้วย

  • เศรษฐกิจ (Economy)
  • สิ่งแวดล้อม (Environment)
  • การศึกษา (Education)
  • การดำรงชีพ (Living)
  • การจัดการภาครัฐ (Governance)
  • การจัดการพลังงาน (Energy)
  • การคมนาคมขนส่ง (Mobility)

...

จากนั้นลงพื้นที่เยี่ยมชมการศึกษาวิจัยออกแบบและสร้างรถไฟฟ้ารางเบา "แทรมน้อย" รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขบวนแรกที่เป็นฝีมือคนไทย และชมการฝึกปฏิบัติของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาทดสอบและถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟฟ้าระบบราง เพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจขนส่งระบบรางและรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ตามแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เป็น SmartMobility

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้เทศบาลนครขอนแก่นตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง เพื่อระดมทุนในการที่โครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง โดยมีภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกันศึกษาวิจัยออกแบบ และสร้างรถไฟฟ้ารางเบา หรือ แทรมน้อย เป็นขบวนรถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขบวนแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นโดยฝีมือคนไทยและจะเป็นต้นแบบให้กับการขนส่งระบบรางของเมืองขอนแก่นและเมืองใหญ่ในประเทศต่อไป 

สำหรับ แทรมน้อยต้นแบบ เป็นการสาธิตให้ประชาชนสามารถสัมผัสและเรียนรู้ไปด้วยกันถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ประหยัดพื้นที่ถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด และขบวนรถแทรมน้อยยังจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะระบบใหญ่ คือ รถไฟฟ้า LRT ที่จะเกิดขึ้นในเขตเทศบาลนครขอนแก่นในอนาคตอันใกล้ สายแรกมีการศึกษาออกแบบไว้แล้วคือสายท่าพระ-สำราญ ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร 16 สถานี และจะเกิดขึ้นในอนาคตรวม 5 สายตามแผนที่มีการศึกษาออกแบบไว้ คาดว่าจะส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการผลิตรถไฟฟ้ารางเบา สร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชาวขอนแก่นหรือใกล้เคียง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ด้วยมูลค่าการนำเข้าขบวนละ 90 ล้านบาท ขณะที่การผลิตในประเทศใช้งบ 70 ล้านบาท

"วันนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และวางระบบการขนส่ง ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมอย่างครบวงจรทั่วประเทศ ท่านนายกฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์ ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ สะท้อนตัวตนและการทำงานของท่านที่ผ่านมาอย่างแจ่มชัด เพราะท่านได้ทำหลายสิ่งให้กับประเทศนี้ วางระบบโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเสถียรภาพทางสังคม ยังคงทำอยู่และจะทำอีกต่อไป".