พรรคการเมืองที่เร่งออกนโยบายหาเสียง ลด แลก แจก แถม แบบฉบับของ ประชานิยม มีการออกมาแสดงความเห็นที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยจากภาครัฐและภาคเอกชนห่วงจะกระทบกับการเงินการคลังของประเทศในอนาคต งบประมาณของประเทศที่จัดอยู่ในประเภทขาดดุลติดต่อกันนับสิบปีไม่เป็นผลดีกับเครดิตของประเทศเท่าไหร่ การนำเงินงบประมาณในอนาคต เช่นงบประมาณผูกพันข้ามปีมาใช้มากๆ ถ้าวางแผนการหาเงินเข้าประเทศไม่ดีหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างทางจะนำประเทศไปสู่จุดเสี่ยงของระบบการเงินการคลัง อย่าประมาทไป การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ยังต้องเข้าแผนล้มละลายมาแล้ว

อ่านบทความของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน ในการสะท้อนมุมมองถึงการแก้ปัญหาความยากจน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร แรงงาน อาชีพรับจ้าง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่อยู่ที่การจัดการเรื่องของทรัพยากรน้ำและที่ดิน ที่ทำกินและ สวัสดิการที่เหมาะสม

การจัดสวัสดิการถูกฝาถูกตัวในการสร้างงานสร้างอาชีพ เป็นที่มาของรายได้ และการดำรงชีพนำไปสู่กลไกของการขจัดความยากจน สวัสดิการความจำเป็นในการดำรงชีวิต หนีไม่พ้นเรื่องของการศึกษาและสาธารณสุข จุดเริ่มต้นที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและสามารถสร้างโอกาสในการแข่งขันได้ อาทิ การพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน การสร้างหลักประกันสุขภาพ และไม่ควรจัดระบบสวัสดิการแบบหว่านแห หรือเหวี่ยงแห แต่ควรจะจัดให้ตรงกับความต้องการของแต่ละสาขาอาชีพ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

เริ่มจากเดือดร้อนมากที่สุดขึ้นไปจนถึงเดือดร้อนน้อยที่สุด เพราะจะทำให้ ระบบสวัสดิการ มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งต้องลงไปในรายละเอียดของแต่ละระดับของการดำรงชีวิต เช่น คนในเมืองมีรายได้เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อปี ถือว่าไม่เข้าข่ายที่จะได้รับ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งๆที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากกว่าคนที่อยู่ในต่างจังหวัด ถึงแม้จะมีรายได้น้อยกว่าก็ไม่เดือดร้อนเพราะมีรายจ่ายที่ต่ำกว่า ดังนั้น จึงไม่ควรนำรายรับมาพิจารณาอย่างเดียว แต่จะต้องนำรายรับ รายจ่าย และภาระต้นทุนการรับผิดชอบของแต่ละสาขาอาชีพมาประกอบการพิจารณาด้วย

...

เช่น คนต่างจังหวัดอาจไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละวันหรือใช้เงินในการเดินทางน้อยกว่า แต่คนในเมืองที่ต้องขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งมากกว่ารายรับที่ได้รับในแต่ละวันอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น นโยบายประชานิยม จะต้องลงในรายละเอียดและสามารถนำมาปฏิบัติได้ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกรควรจะแก้อย่างไร ผู้ใช้แรงงานควรจะแก้อย่างไร กลุ่มแรงงานก็ยังประกอบด้วยกลุ่มแรงงาน กลุ่มลูกจ้างนอกระบบ คนงานต่างด้าวที่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงด้วย

ประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรมากถึง 25 ล้านคน หรือร้อยละ 40 ของประชากร แต่รายได้เฉลี่ยต่ำกว่าสาขาอาชีพอื่น คือมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ขณะที่นอกภาคการเกษตร มีรายได้เฉลี่ย 16,000 บาทต่อเดือน เกษตรกรมีที่ทำกินของตัวเอง 1-10 ไร่ ร้อยละ 40 อีกร้อยละ 8 ที่ยังไม่มีที่ทำกิน เป็นประชานิยม ที่ยังโง่ จน เจ็บ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th