“สุพัฒนพงษ์” แจงอภิปรายทั่วไปมาตรา 152 ปมค่าไฟ-แก๊สธรรมชาติ ท้า ลองทำดูถ้าได้เป็นรัฐบาล มั่นใจ สร้างความเสียหายทั้งประเทศ

เวลา 16.53 น. วันที่ 15 ก.พ. 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงในการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี หรือ การอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในเรื่องราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และการจัดสรรแก๊สในอ่าวไทย ว่า ไม่อยากเข้าใจผิดและมองว่ารัฐบาลชุดนี้เอื้อประโยชน์กลุ่มอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ นโยบายเรื่องแก๊สในอ่าวไทย ไม่ได้บอกว่าให้ประชาชนแบกรับภาระ LNG อุตสาหกรรมรับขอถูกไปคนเดียว โครงสร้างราคาไม่ได้เป็นเช่นนี้ วันนี้อยู่ในพูลเดียวกัน ราคาเดียวกัน เพื่อผลิตไฟฟ้า เข้าครัวเรือน 20-30% ที่เหลือเข้าอุตสาหกรรม ส่วนแก๊สที่เข้าอุตสาหกรรมก็เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้ประเทศตลอดระยะเวลาของนโยบายที่มีมากว่า 30 ปี เขาทำกันมานานมาก มีการขุดพบแก๊สธรรมชาติ และยังเป็นจุดขายของประเทศที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้าไทย ซึ่งไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่เอาใจใส่และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทางด้านพลังงาน คือใช้แก๊สธรรมชาติซึ่งถือว่าเป็นพลังงานสะอาด แต่กลับจะให้หันไปใช้น้ำมันเตาที่จะเลิกใช้กันอยู่แล้ว ที่เสนอคือใช้ชั่วคราวในบางช่วงยามวิกฤติ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินยามวิกฤติก็เอามาใช้ได้

แต่ที่จะให้เปลี่ยนโครงสร้างถาวร เกรงว่าสิ่งดีๆ ที่รัฐบาลยุคก่อนๆ ทำมาดีอยู่แล้ว เป็นราคาเดียวกัน ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งแบก เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญที่ท่านใฝ่ฝันอยากให้เกิดความเท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม การเจิรญเติมโตทางธุรกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ผิดปกติและวิกฤติจริงๆ จึงต้องนำเข้า LNG ราคาแพง ส่วนกลุ่มปิโตรเคมีเอกชนได้ราคาต่างหาก เพราะเอาแก๊สอีเทน (Ethane) และ LPG ไป ไม่ใช่แก๊สมีเทน (Methane) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในปิโตรเคมี ต่อยอดสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของไทยอันดับต้นๆ มาตลอดระยะเวลา 20 ปี สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยให้เติบโตถึงทุกวันนี้ จนเป็นจุดดึงดูดอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างๆ ขึ้นมา จะไปเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้ ต้องอิงราคาตลาด จึงจำเป็นต้องมีราคาที่แข่งขันให้เกิดการดึงดูดลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เราไม่เอาไม้สักไปทำฟืน อยากจะให้เข้าใจเพราะเกรงประชาชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำกันมาหลายสิบปีแล้ว กำกับโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องเท่าเทียม เป็นประโยชน์ ไม่ให้ใครแบกภาระทางใดทางหนึ่ง เกื้อกูลเศรษฐกิจ เขาเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าเราจะไม่เปลี่ยนนโยบาย

...

สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์

ส่วนเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าเกิน 60% นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า เป็นการคำนวณผิด เอากำลังการผลิตไปรวมๆ กัน เพราะลม แสงแดด ไม่ได้ผลิตได้ทั้งวัน น้ำก็ไม่ได้ตลอดปี จะให้เท่ากับเป็น 100% ของ 1 วันคงไม่ได้ ต้องลดทอนกันไป ต้องเป็นกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้และใช้งานได้เต็มๆ ใน 1 วัน ออกมาประมาณ 36% ปีนี้น่าจะลดลงอีก และแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ เพะากำลังการผลิตโรงไฟฟ้าที่ท่านบอกว่าไม่ได้ใช้หลายโรงงานมันเก่า ก็จะลดลงไป ถ้าสังเกตได้จะพบว่าไม่มีกำลังการผลิตเพิ่มใหม่ในรัฐบาลนี้ มีเพียงบางหน่วยที่ผลิตแต่น้อยมาก ประมาณ 1,900 เมกะวัตต์ ตลอด 8 ปี สำหรับคำถามว่าทำไมไม่กลับไปเจรจาให่ค่าพร้อมจ่ายลดลง ขอชี้แจงว่าสัญญาในอดีตเขียนไว้อย่างดีแล้ว ไม่มีช่องโหว่ที่จะต้องไปเจรจา

“ที่ท่านเสนอทั้งหมดผมก็รับฟัง แต่ต้องขอบคุณที่ชมมาบ้างในเรื่องของการลดอัตราค่าผ่านท่อเราติดตามตลอด ในส่วนนี้มี กกพ. กำกับดูแลอยู่ ทางกระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามในการแก้ปัญหาทุกๆ ด้าน ทั้งหมดทั้งปวงจากตนทุนของวัตถุดิบจริงๆ แต่ถ้าท่านอยากจะให้ไปเปลี่ยนโครงสร้าง ท่านมาลองเปลี่ยนดู ถ้าท่านเปลี่ยนอย่างที่ท่านทำ ผมกำลังจะเรียนว่า บอกไปเลยว่าไม่ให้แล้ว อุตสาหกรรมไปใช้น้ำมันเตา เลิกใช้แก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย ไปทำกันดู ไปเอาตัวรอดกันดู ท่านกำลังทำให้อุตสาหกรรมทั้งประเทศไทยพังทลายไป เพราะ 30 ปีเขา(นักลงทุน) มาด้วยความมั่นใจ เขามาด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความมั่นใจว่าดูแลในเรื่องของความเพียงพอ ดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่มีใครที่อยากจะใช้น้ำมันเตาเป็นวัตถุดิบเรื่องเชื้อเพลิง เขาพยายามจะลด ลด และลดไปเรื่อยๆ เพื่อสอดคล้องกับทิศทางของความเป็นกลางทางคาร์บอนในโลกนี้ ทำชั่วครั้งชั่วคราวขอความร่วมมือเนี่ยทำกันได้ และเขาก็ไม่ได้ทำเผื่อมาเลยเพราะเขาปักใจและเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่ารัฐบาลจะมีคำมั่นสัญญาในส่วนนี้กับเขา ท่านลองทำก็ได้ถ้าท่านเป็นรัฐบาล แล้วท่านต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเอง”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุต่อไปอีกว่า ด้วยความเป็นห่วงที่ได้นั่งฟังมาโดยตลอด ที่สำคัญที่สุดคือไม่อยกให้เกิดความเข้าใจผิดว่าจำนวนกำลังการผลิตที่เกิน 60% มีจริง อยากให้มานั่งพูดคุยกัน คำนวณกันอย่างจริงจัง เอาวิธีที่ถูกไปให้ประชาชนรับทราบดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ ไปสร้างความเข้าใจผิด ความสงสัย นอกจากนี้ เรื่องกำลังการผลิตที่ระบุว่าไปแอบลักหลับนั้น กำลังการผลิตที่แนะนำมาล้วนแต่จะมาทดแทนฟอสซิล เป็นพลังงานสะอาดที่ราคาไม่แพง ตรงกับที่ท่านเสนอแนะและอยากเห็น ค่าพร้อมจ่ายก็ไม่มี หรือมีก็ไม่มาก เป็นข้อตกลงที่จะรู้ล่วงหน้า ประมาณการล่วงหน้าระยะเวลาสั้นๆ ด้วย จะลดความเสี่ยงเรื่องค่าพร้อมจ่าย

วรภพ วิริยะโรจน์
วรภพ วิริยะโรจน์

ทางด้าน นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นกล่าวว่ามีการพูดให้ตนเองเสียหาย หาว่าพูดไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ข้อมูลความจริง ซึ่งสิ่งที่รัฐมนตรีตอบเป็นการยืนยันในสิ่งที่ตนได้อภิปรายไป สรุปคือเลือกให้ประชาชนจ่าย เพราะบอกว่าเป็นสิ่งที่ทำมานานแล้ว และอุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องใช้ ให้แข่งขันได้กับตลาดโลก จึงไม่แน่ใจว่าแล้วธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้ค่าไฟฟ้าจะแข่งขันกับตลาดโลกอย่างไรถ้าค่าไฟเราแพงขึ้น ขณะที่ประเด็นกำลังการผลิตที่อนุมัติ 1,900 เมกะวัตต์ คำถามคืออนุมัติทำไม ในเมื่อกำลังการผลิตเกิน 60% ในขณะนั้น และต่อให้คำนวณมาเป็น 30% แต่กลับอนุมัติก่อนการเลือกตั้ง 2 เดือน

นายสุพัฒนพงษ์ ได้ลุกขึ้นตอบสั้นๆ เชื่อว่าการอนุมัติครั้งนั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการจะรู้ว่าจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ล่วงหน้า แต่ไปคำนวณกำลังการผลิต ณ เวลานั้น แต่ไม่ใช่ 60% แน่นอน และจบการชี้แจงในเวลา 17.06 น.