เลือกตั้งโปร่งใส! นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทยและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งโจทย์สุดหินผ่าน ทีมการเมือง ไปยัง กกต.ให้แก้

หากจัดการเลือกตั้งไม่โปร่งใส เช่น มีบัตรเขย่ง มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น ประชาชนก็ให้การยอมรับน้อย

วิธีทำให้โปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้ เช่น ขอให้ภาคเอกชนเข้าไปเป็นหน่วยสังเกตการณ์ทุกหน่วยเลือกตั้ง กติกานี้มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีการตั้งงบประมาณสนับสนุน พอช่วงใกล้เลือกตั้งก็แกล้งทำพอเป็นพิธี อ้างไม่มีคนมาสมัคร

เช่นเดียวกับระบบการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ปกติเลือกตั้งเสร็จ ระบบรายงานผลจากหน่วยเลือกตั้งผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแรบบิทรีพอร์ต รายงานผลอย่างรวดเร็ว

โดยมีกรรมการการเลือกตั้งหน่วยละ 1 คนทั่วประเทศ ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเข้าส่วนกลาง ระบบออโต้บวกคะแนนเสร็จ ส่งให้สื่อมวลชนรายงานผลเป็นระบบเรียลไทม์

แต่ กกต.กำลังทำโดยรายงานผลผ่านแอปพลิเคชัน ใช้วิธีถ่ายภาพเอกสารแบบฟอร์มรายงานผล มีการเซ็นชื่อกรรมการหน่วยเลือกตั้งทั้ง 9 คนในเอกสารนั้น ส่งไปให้ศูนย์รวมคะแนนเขต แล้วเอาข้อมูลไปกรอกลงเอกเซลอีกที

...

“คอนเซปต์คนละเรื่อง กกต.พยายามทำไม่เชื่อมต่อกับประชาชน คะแนนไม่เรียลไทม์ ระบบนี้จะล้มเหลว

เพราะโทรศัพท์แต่ละเครื่องมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน การถ่ายภาพเอกสารขนาด เอ 4 และ 2 หน้า ดูตัวเลขในโทรศัพท์มือถือเล็กกว่าเยอะ แทบมองไม่เห็น จะมีปัญหาการกรอกคะแนนผิด

ระบบที่ผมเคยทำ!! เป็นสิ่งที่ กกต.ไม่พยายามทำ การถ่ายภาพแล้วมากรอกตัวเลขมันล้าสมัย สมัยผมลงไปกำกับเอง จี้เลยแอปพลิเคชันทำหรือยัง ทดลองระบบ มีระบบเซิร์ฟเวอร์สำรอง

ถ้า กกต.นั่งอยู่เฉยๆ รอรายงานความเรียบร้อย ไม่มีปัญหา ระบบไม่ล้มนะ แค่ย้ำเท่านั้น พอวันจริงระบบล่มจะทำอย่างไร”

ทำไม กกต.ทำสวนทาง กกต.ชุดก่อน นายสมชัย บอกว่า สำนักงาน กกต.เป็นฝ่ายเสนอให้ กกต.เป็นฝ่ายดำเนินการ แต่สำนักงาน กกต.พยายามทำให้น้อยที่สุด บนทัศนคติทำมากผิดมาก ทำเพียงภายใต้ระเบียบให้ทำแค่ไหนก็ทำเท่านั้น

กกต.ไม่รู้เท่าทัน เพราะไม่ได้ลงไปกำกับ

การแบ่งเขตการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ก่อให้เกิดความยากลำบากต่อประชาชนในการแสดงความคิดเห็น มันเป็นการรับฟังแบบพิธีกรรม

เพราะติดตามดูรูปแบบแบ่งเขตตามสถานที่ที่ กกต.กำหนด ดูผ่านเว็บไซต์จังหวัดหรือเฟซบุ๊กของจังหวัด ขอท้าเลยพวกเราเข้าไปดู ไม่เจอหรอก แต่ละจังหวัดนำเสนอบนเว็บไซต์แตกต่างกัน แทนที่นำเสนอขึ้นเป็นแบนเนอร์ใหญ่ คลิกปั๊บเจอทันที

รวมถึงกรณีที่ประชาชนต้องแสดงความเห็นตามแบบฟอร์ม ต้องส่งเป็นเอกสาร แนบสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หากมอบอำนาจให้คนอื่นไปยื่น ต้องติดอากรแสตมป์ในใบมอบอำนาจ...บ้าไปแล้ว!!

สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็น เชื่อว่ามีคนแสดงความคิดเห็นน้อยมาก แทนที่ใช้วิธีที่สะดวก หรือใช้วิธีการเปิดประชาคม

และเมื่อแบ่งเขตแล้วมีการให้ทบทวน 5 จังหวัด มี 3 จังหวัดแก้มาแล้ว คือปัตตานี เชียงใหม่ สมุทรปราการ แต่ จ.ชลบุรี และกรุงเทพฯ ยังไม่ได้แก้

จ.ชลบุรีอาจแก้ไม่ยาก แต่ไม่รู้เหมือนไปกระทบพื้นที่บ้านใหญ่ บ้านเล็กหรือเปล่า เลยไม่ยอมเคาะ ต่างกับกรุงเทพฯ เป็นโจทย์ยากมากๆ เชื่อว่าเขารู้มาเป็นปีแล้ว แต่ไม่ยอมปรึกษาหารือถึงทางออก พอเป็นแบบนี้ กกต.ต้องทำการบ้านมากกว่านี้

ทีมการเมือง ถามว่า กกต.ประกาศจำนวนประชากรรวมต่างด้าวเข้าไปด้วย นำไปสู่การเลือกตั้งโมฆะอย่างไร นายสมชัย บอกว่า สิ่งที่เห็นในราชกิจจานุเบกษาจำนวนราษฎร แยกเป็น 2 ตาราง ซีกซ้ายราษฎรสัญชาติไทย ซีกขวาไม่ใช่สัญชาติไทย รวมเป็น 66 ล้านคน

ใช้ซีกซ้ายที่เป็นรัฐไทยหรือซีกขวา

“ผมพยายามค้นก็พบว่า ราษฎรต้องเป็นคนสัญชาติเดียวกัน ราษฎรไทยต้องเป็นสัญชาติไทย และค้นกรณีแยกออกเป็น 2 ตารางเริ่มตั้งแต่ปีไหน พบว่า ปี 57 ตอนผมเป็น กกต.ยังเป็นตารางเดียว พอปี 58 แยกเป็น 2 ตาราง

มีการเลือกตั้ง 1 ครั้งปี 62 ซึ่งใช้ตารางรวม ตอนนั้นไม่มีใครโต้แย้ง เพราะไม่มีใครรู้ใช่ไหม ไม่มีใครยุ่งแม้ทำผิด เป็นการเลือกตั้ง
ภายใต้การกำกับของ คสช.

เช่น คสช. สั่งให้ใช้จำนวนราษฎรปลายปี 60 แทนที่จะใช้จำนวนราษฎรปลายปี 61 ส่อขัดรัฐธรรมนูญ”

ก่อให้เกิดการคำนวณ ส.ส.ของแต่ละจังหวัดผิดไปจากข้อเท็จจริง จังหวัดที่มีคนไทยหรือราษฎรที่ไม่ใช่คนไทย จังหวัดที่มีราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยเยอะย่อมมีโอกาสได้ ส.ส.มากขึ้น

ปัญหาที่ตามมาในปี 62 มีทั้งทำให้ ส.ส.บางจังหวัดลดลง ปัญหาบางเขตเลือกตั้งมีคนไทยมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงเล็กน้อย เพราะมีคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยอยู่ 6-8 หมื่นคน ผู้สมัคร ส.ส.ได้คะแนน 2-3 หมื่นก็ได้เป็น ส.ส.

มันเจอปัญหา 2 อย่าง คือจำนวน ส.ส.ในจังหวัดถูกต้องหรือไม่ และการแบ่งเขตจังหวัดมีคนไทยจริงที่มีสิทธิเลือกตั้งน้อย ทำให้คนคุมเสียงข้างมากเอาชนะการเลือกตั้งได้

ถ้าเป็นแบบนี้เรื่อยๆ จะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต จังหวัดไหนอยากได้ ส.ส.เพิ่มก็เอาคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยเข้ามาใส่เป็นราษฎรไทย

ฉะนั้น ขอเสนอให้ กกต.ทำคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 แปลความหมายว่าอย่างไร

ถ้าหมายถึงราษฎรที่มีสัญชาติไทย ต้องถอยกลับมาแก้ไขได้ทัน แต่ถ้ารวมถึงราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยด้วย ถือเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ กกต.ทำถูกต้อง เดินหน้าต่อตามปกติ

หาก กกต.ไม่ร้อง เดินหน้าอย่างเดียว ในอนาคตมีประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ์มีสิทธิร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน ยังไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง

สมมติอีก 3-4 เดือน เลือกตั้งเสร็จประกาศผล เกิดผลกระทบ 6 จังหวัด คือเชียงใหม่ เชียงราย ตาก อุดรธานี ลพบุรี และปัตตานี รวม 40 เขต 8% จาก ส.ส. 500 คน มี ส.ส.ไม่ถึง 95% ย่อมเปิดการประชุมสภาไม่ได้

รัฐบาลรักษาการยาวจนกว่าจะเลือกตั้งใหม่ กกต.เข้าข่ายวินิจฉัยบกพร่องต้องจ่ายค่าเสียหาย ฐานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะหลายฝ่ายออกมาเตือนย้ำแล้วย้ำอีก เป็นสิ่งที่ กกต.ต้องคิด มันเดินไปสู่จุดนี้ได้จริงๆ หากมีการฟ้องร้องค่าเสียหายทางแพ่ง สมมติ กกต.แพ้ต้องจ่ายตังค์

เปิดประชุมสภานัดแรกต้องมีจำนวน ส.ส. 95% จุดนี้เปิดช่องให้รัฐบาลรักษาการอยู่ยาวได้ นายสมชัย บอกว่า สมัยก่อนให้กรอบเวลาแค่ 30 วัน กกต.บอกว่าเวลาน้อยไป จะสอยใครก็สอยไม่ทัน ฉะนั้น ขอเป็น 60 วันช่วยกลั่นกรองคนดีเข้าสู่สภา

ขยายเวลา 60 วัน ไม่ช่วยทำให้ กกต.ทำงานดีขึ้น กกต.ควรใช้โอกาสนี้จัดการเลือกตั้งให้สุจริต คำร้องต่างๆดำเนินการให้เรียบร้อย มีใบเหลืองกี่ใบ ใบส้มกี่ใบก็ว่าไป

ฉะนั้น ความเป็นห่วงประกาศเลือกตั้งจะไม่ได้ 95% ผมไม่ห่วง ตอนนี้ห่วงอย่างเดียว ถ้ามีประชาชนร้องทำให้ 40 เขตเสียไป ประเด็นนี้ทำให้ไม่ได้ ส.ส. 95%

กกต.ผิดฐานประมาทเลินเล่อทำให้เลือกตั้งใหม่

หลายพรรคการเมืองเป็นห่วงภายหลังเลือกตั้งมีโอกาสเกิดโมฆะ นายสมชัย บอกว่า เบื้องต้นที่คำนวณมีผลกระทบ 6 จังหวัด แต่มีคนระบุว่าทั้งหมดได้ เพราะประชากร 66 ล้านคน นำไปคำนวณทุกจังหวัด อาจเป็นเกมหนึ่งที่วางไว้? ผมไม่รู้นะครับ!!

แต่ที่ผ่านมาเคยใช้ช่องทางดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งตกเป็นโมฆะมาแล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่พึงระวัง!!

ประเภทเลือกตั้งมาแล้วดูผลก่อนชนะหรือไม่ ถ้าชนะไม่มีปัญหา

แต่แพ้ขึ้นมา มีความเป็นไปได้หาทางตีรวนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ.

ทีมการเมือง