ประเทศไทยจัดส่งทีมแพทย์-ทีมค้นหากู้ภัย ร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวตุรกี อุณหภูมิพื้นที่ -10 องศาเซลเซียส เริ่มออกเดินทางค่ำนี้
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีและซีเรีย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีดำริผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ จึงประชุมหารือร่วมกับกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงสถานการณ์และความช่วยเหลือ พบว่าประเทศตุรกีมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ประกาศเขตภัยพิบัติ 10 จังหวัด ส่วนประเทศซีเรียได้รับผลกระทบวงกว้างเช่นกัน ภาพรวมประชากรได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20,000 ราย และอยู่ระหว่างค้นหาผู้ติดอยู่ในซากตึก โดยอุณหภูมิในพื้นที่ประมาณ -10 องศาเซลเซียส
...
สำหรับการพิจารณาสนับสนุนความช่วยเหลือเบื้องต้น จะแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่
1. การส่งทีม Urban Search and Rescue (USAR) หรือทีมค้นหากู้ภัย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรับดำเนินการ ซึ่งจะมีบุคลากรแพทย์ พยาบาลกู้ชีพ และเวชกิจฉุกเฉิน ของกรมการแพทย์ จำนวน 3 คน เข้าร่วมทีม ออกเดินทางในช่วงค่ำวันนี้ (9 ก.พ. 2566)
2. การสนับสนุนครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ซึ่งสถานทูตตุรกี ส่งรายการเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการมา 215 รายการ กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นและเหมาะสมต่อสถานการณ์แผ่นดินไหวในวงเงินเบื้องต้น 5-6 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ส่วนประเทศซีเรียไม่มีสถานทูตไทย การดำเนินการขอให้พิจารณาผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน
3. การสนับสนุนทีมแพทย์เบื้องต้น โดยทีมแพทย์ทหารจัดส่งทีม MERT (Medical Emergency Response Team) ประมาณ 25 นาย ไปปฏิบัติการ
4. กระทรวงสาธารณสุข จะเตรียมความพร้อมทีม Thailand EMT (Emergency Medical Team) ซึ่งเป็นทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ด้านภัยพิบัติที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก อยู่ระหว่างการระดมทีม สรุปแผนและแนวทางการปฏิบัติ มีจำนวน 32 คน เป็นสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาลกู้ชีพ นักวิชาการสาธารณสุข เวชกิจฉุกเฉิน เทคนิคการแพทย์ วิศวกร บุคลากรอื่นๆ โดยจะมีการประชุมพรุ่งนี้ (10 ก.พ. 2566) และจะประสานกับกระทรวงกลาโหม ว่าทีมแพทย์ทหารที่เดินทางไปแล้วต้องการทีมสนับสนุนเพิ่มเติมหรือผลัดเปลี่ยนหรือไม่ โดยกรมการแพทย์เป็นผู้ประสานหลัก
ในช่วงท้าย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “การไปปฏิบัติการช่วยเหลือในครั้งนี้มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งเรื่องอุณหภูมิที่ต่ำถึง -10 องศาเซลเซียส ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม รวมถึงการเกิดอาฟเตอร์ช็อก (After Shock) จึงเน้นย้ำให้บุคลากรที่จะเดินทางไปให้ความช่วยเหลือระมัดระวังอย่างเต็มที่ ดูแลความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ประสบภัย”.