ครม. รับทราบผลการใช้จ่ายงบประมาณ ไตรมาสแรกปี 2566 ภาพรวมสูงกว่าแผน และเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณ นายกฯ กำชับต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 ก.พ. 2566 โดย ครม. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ไตรมาสที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2565 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3.185 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 986,498.7599 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.97 แบ่งเป็น

  • รายจ่ายประจำ มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 873,288.5891 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.65
  • รายจ่ายลงทุน มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 123,449.3612 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.57


ทั้งนี้ ภาพรวมรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไตรมาสที่ 1 มีผลการใช้จ่ายงบประมาณสูงกว่าแผน และเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายภาครัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

สำหรับผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเป็น 6 ยุทธศาสตร์ และ 1 รายการ ประกอบด้วย

1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง งบประมาณ จำนวน 292,593.6677 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 58,774.7761 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.09 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 74,302.5937 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.39 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 11.91 และ 8.69 ตามลำดับ

2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ จำนวน 397,239.2473 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 146,022.1212 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.76 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 239,930.9818 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.40 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 4.76 และ 26.32 ตามลำดับ

...

3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณจำนวน 544,455.5039 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 149,288.6645 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.42 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 162,767.7356 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.90 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 4.58 และ 4.18 ตามลำดับ

4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณจำนวน 767,403.0444 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 265,129.0095 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.55 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 271,754.3066 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.41 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 2.55 และ 1.33 ตามลำดับ

5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณ จำนวน 122,605.9595 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 22,606.0023 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.44 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 41,590.4537 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.92 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 13.56 และ 0.16 ตามลำดับ

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณจำนวน 658,184.6140 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 173,225.9830 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.32 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 180,291.6609 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.39 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 5.68 และ 6.69 ตามลำดับ

ขณะที่ 1 รายการ คือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ งบประมาณ 402,517.9632 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 171,452.2033 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.59 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 171,526.6833 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.61 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 10.59 และ 8.53 ตามลำดับ

“นายกฯ กำชับให้มีการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด รวมถึงการวางระบบการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงาน และการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งการติดตามและประเมินผลก่อนการจัดสรรงบประมาณ ระหว่างการใช้จ่ายงบประมาณ และภายหลังจากการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนให้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมทั้งระบุปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไขด้วย”

โฆษกรัฐบาล ระบุต่อไปว่า นอกจากนี้สำนักงบประมาณยังได้เสนอแนะให้หน่วยรับงบประมาณ มีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงาน และเป้าหมายของมาตรการที่กำหนดไว้ ตลอดจนกำหนดทิศทางแนวทาง หรือปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เร่งรัดดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนรายการปีเดียวให้สามารถก่อหนี้ผูกพ้นให้เสร็จสิ้นทุกรายการ ภายในไตรมาสที่ 2 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยสำนักงบประมาณจะนำผลการเบิกจ่ายและการใช้จ่าย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อไป.