คมนาคม เผยผลสอบปมเปลี่ยนป้าย 33 ล้าน จาก สถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชี้ ไม่พบว่า รฟท. ดำเนินการนอกเหนือขอบเขตงาน คณะกรรมการแนะใช้อักษรเดิมมาปรับปรุง ลดค่าใช้จ่าย

วันที่ 24 ม.ค. 2566 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบกรณีโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า คณะกรรมการได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทั้งในประเด็นเรื่องของความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง รวมถึงความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นดังนี้

1. รายละเอียดโครงการ

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการจัดจ้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีตามที่ได้รับพระราชทานนาม โดยวิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง มูลค่างาน 33,169,726.39 บาท โดยแบ่งงานออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
1) งานโครงสร้างวิศวกรรม
2) งานสถาปัตยกรรม
3) งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ
4) งานเผื่อเลือก

...

2. ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง แบ่งเป็น เรื่องความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง กับความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง

2.1 เรื่องความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง คณะกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว มีประเด็นที่จะต้องตรวจสอบ ในรายละเอียด 2 ประเด็น คือ การกำหนดขอบเขตงานโดยอ้างอิงจากการดำเนินงานเดิมที่ผ่านมา และการกำหนดราคากลางของคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงานและกำหนดราคากลาง ในส่วนของค่าวัสดุและค่าแรงซึ่งมีที่มาจากการสืบราคาของที่ปรึกษา CSC มีผลการตรวจสอบสรุปดังนี้

คณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาเอกสารหลักฐาน ตลอดจนการชี้แจงของ รฟท. ทั้งที่เป็นการชี้แจงด้วยวาจาและเอกสารประกอบการนำเสนอ สรุปได้ว่าการกำหนดขอบเขตงาน ซึ่ง รฟท. อ้างอิงแบบโครงสร้าง รายละเอียด เทคนิควิธีการ และวัสดุจากงานที่กำหนดไว้เดิม ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท. ดำเนินการนอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิมที่ รฟท. รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ปรากฏว่ามีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการและการกำหนดราคากลางของ รฟท. เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งคณะกรรมการมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดย รฟท. อาจทบทวนเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และประหยัดงบประมาณของ รฟท. ให้ได้มากที่สุด เช่น

1) รฟท. อาจทบทวนรายละเอียดทั้งในส่วนของวัสดุ เทคนิค ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำ และติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดทำ เทียบกับติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งก่อน ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และจำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง

2) รฟท. อาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบัน มาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพยังดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้

3) รฟท. อาจทบทวนค่างานออกแบบ ที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งการทบทวนงานเผื่อเลือก (Provisional Sum) ที่อาจสามารถปรับลดได้ เช่น การทบทวนความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น

2.2 ความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงในครั้งนี้ รฟท. อ้างเหตุผลของการจ้างด้วยเหตุตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ว่าเป็น “การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้” คณะกรรมการจึงต้องพิจารณาตรวจสอบว่าการจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงของ รฟท. เป็นไปตามเหตุผล และหลักการของมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ซึ่งมีผลการตรวจสอบสรุปได้ ดังนี้

คณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. ตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 แม้จะเป็นการใช้ดุลยพินิจตีความระเบียบกฎหมายในกรอบอำนาจหน้าที่โดยอาศัยเหตุและผลความจำเป็นตามที่เข้าใจ และ รฟท. ได้ชี้แจงมาข้างต้นไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ก็สมควรหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลางให้ชัดเจน นอกจากนี้ รฟท. ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการของกฎหมาย ที่เห็นควรให้ใช้วิธีการพิจารณาเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน

ขณะเดียวกัน ยังเห็นควรให้ รฟท. พิจารณาทบทวนตรวจสอบกระบวนการสืบราคาให้เกิดความครบถ้วนชัดเจน และดำเนินการให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางเกี่ยวกับการขอจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0433.2/ว 206 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2562 ตามขั้นตอนต่อไป.