ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูการหาเสียงอย่างแท้จริง พรรคการเมืองต่างๆประกาศนโยบายเรียกร้องคะแนนนิยม สัญญาจะเพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าเป็นวันละ 600 บาท พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นอกจากสัญญาจะแจกเงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากเดือนละ 2-3 ร้อยบาทเป็นเดือนละ 7 ร้อยบาทแล้ว ยังจะปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ลุงป้อมพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยุติความขัดแย้ง” ด้วยการให้นิรโทษกรรมการเมืองให้ทุกกลุ่ม และปฏิรูปใหญ่ประเทศไทยเหมือนกับการปฏิรูปใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อแก้ปัญหาระบบราชการ

รวมทั้งปฏิรูปกระบวนการยุติ ธรรมที่เกือบพังทลายโดยสิ้นเชิง ฟังแล้วน่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2560 ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 และเป็นหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 6 ปี ปฏิรูปอะไรบ้าง

รัฐธรรมนูญเขียนบังคับไว้ชัดเจนต้องปฏิรูปในด้านการเมือง ด้านกฎหมาย การบริหารราชการแผ่นดินกระบวนการยุติธรรม แต่การเมืองไทยกลายเป็นปฏิรูปถอยหลังจากประชาธิปไตยเต็มใบเป็นครึ่งใบ กลับคืนสู่ระบบอำมาตยาธิปไตย รัฐราชการรวมศูนย์ ต้นทางกระบวนการยุติธรรมเต็มไปด้วยเรื่องฉาวโฉ่

ชัดเจนที่สุดคือ คดี “ตู้ห่าว” ที่โด่งดัง เริ่มต้นเป็นคดีที่ทุนจีนสีเทาถูกกล่าวหาในคดีค้ายาเสพติด ฟอกเงิน อั้งยี่ อาชญากรรมข้ามชาติ บานปลายเป็นคดีข้าราชการไทย ทั้งตำรวจและพลเรือนถูกกล่าวหารีดเงินจากแก๊งต่างชาติที่มีอำนาจอิทธิพลจนอาจไม่ยอมอยู่ใต้กฎหมายไทย คล้ายกับยุค “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”

...

ยุคสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ คนต่างชาติหลายประเทศที่อยู่ในประเทศไทยแต่ไม่ยอมอยู่ใต้กฎหมายไทย เพราะรัฐบาลของเขามีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แม้จะทำความผิดในไทยก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่างชาติ หวังว่ารัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมจะไม่ยอมปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้

กว่า 8 ปีที่อยู่ในอำนาจกลุ่ม 3 ป. ปฏิรูปประเทศในด้านใดบ้าง โดยเฉพาะด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ยอมรับฟังเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพจากทหารการเมืองเป็นทหารอาชีพเพื่อเปิดทางให้ประชาธิปไตยเดินหน้า แต่เพิ่งจะมางัวเงียปัดฝุ่นรัฐธรรมนูญเพื่อหาคะแนนนิยมเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง.