รัฐบาล เตรียมบรรจุหลักสูตรว่ายน้ำขั้นพื้นฐานเป็นวิชาบังคับในสถานศึกษา หลังพบ “จมน้ำเสียชีวิต” สาเหตุการตายอันดับ 2 ของเด็กทั่วโลก คนไทยเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 3.6 พันคน

วันที่ 5 ม.ค. 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางการลดปัญหาการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กและเยาวชนไทย สอดรับกับมติสมัชชาสหประชาชาติที่ต้องการป้องกันการจมน้ำของเด็กทั่วโลก ทั้งนี้ ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 3.6 แสนศพ เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 1.45 แสนศพ คือสาเหตุอันดับสองของการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี รองจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียนมีการจมน้ำเสียชีวิตสูงเป็นอันดับสองของโลก และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2554 -2563) ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากการจมน้ำจำนวน 3.6 หมื่นศพ เฉลี่ยปีละ 3,614 ศพ เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยปีละ 780 ศพ ในปี 2564 มีเสียชีวิต 658 ศพ ปี 2563 มีจำนวน 540 ศพ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการชักชวนกันไปเล่นน้ำและพลัดตกมากที่สุด

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย กรมพลศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการป้องกันการจมน้ำ ได้ดำเนินโครงการ “เด็กไทยว่ายน้ำได้” เพื่อให้เด็กมีทักษะการว่ายน้ำเบื้องต้นที่ถูกต้องสามารถเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำและรู้หลักการใช้อุปกรณ์ในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำซึ่งจะเป็นการลดอัตราการจมน้ำของเด็ก เฉพาะปี 2565 มีเด็กต่ำกว่า 15 ปี เข้าร่วมโครงการจาก 77 จังหวัด รวม 9,311 คน มากไปกว่านั้น ทางกรมฯ ได้เสนอแนวทางการลดปัญหาการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ 5 แนวทางที่ได้รับการเห็นชอบไปพิจารณาดำเนินการ กล่าวคือ

...

1. กระทรวงศึกษาฯ บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนว่ายน้ำขั้นพื้นฐานเป็นวิชาบังคับในสถานศึกษาที่มีความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์กรณีที่สถานศึกษามีข้อจำกัดด้านสถานที่และอุปกรณ์ให้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อสระว่ายน้ำเคลื่อนที่สำหรับเด็กและเยาวชนได้ฝึกว่ายน้ำเพื่อให้มีทักษะการว่ายน้ำและสามารถเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ
2. กระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันจัดทำองค์ความรู้เรื่องการป้องกันการจมน้ำของเด็กและเยาวชนในรูปแบบสื่อประเภทต่างๆ พร้อมเผยแพร่ในสถานศึกษาผ่านช่องทางที่หลากหลาย
3. กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันทำการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครองครู และประชาชนทั่วไปในการป้องกันและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนจากการจมน้ำ
4. กระทรวงศึกษาฯ กำหนดค่าเป้าหมายและมาตรการในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีทักษะในการป้องกันการจมน้ำพร้อมติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
5. ร่วมกันวางแผนและกำหนดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน

“รัฐบาลจึงขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิต ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการว่ายน้ำและสามารถเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำได้ ในส่วนของภาครัฐจะได้มีการบูรณาการการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียจากการจมน้ำอีกต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว