สถานการณ์ภาพรวมประเทศไทยในปี 2566 นอกจากต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากการปรับดุลอำนาจของขั้วการเมือง โดยมีศึกเลือกตั้งใหญ่ เป็นตัวจัดระเบียบขั้วอำนาจใหม่แล้ว

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็น่าจับตาควบคู่กันไป

แม้หลายสำนักจะวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยหลังการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 จะขยายตัวได้ประมาณ 3-3.5% ในปี 2566 และน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

จากอานิสงส์ของภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริโภค รวมไปถึงการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เราไม่สามารถควบคุมได้อยู่ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอยชัดเจน, ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ที่แม้คาดการณ์ว่าจะลดลงในปี 66 แต่ปัจจัยหลักคือราคาพลังงานและวัตถุดิบยังคงสูง ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตไปทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายจุด ระหว่าง สหรัฐฯ-จีน-รัสเซีย ย่อมส่งผลต่อเขตเศรษฐกิจทั้งหลาย

แม้จะมีปัจจัยลบหลายด้าน แต่ก็ยังมี ปัจจัยบวก จากการพลิกตัวปรับนโยบายจาก “โควิดเป็นศูนย์” มา เปิดประเทศของจีน หลังทนแรงกดดันจากการประท้วงของชาวจีนทั่วประเทศไม่ไหว

ด้วยอิทธิพลของชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ย่อมส่งผลดีต่อประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะไทย ที่เหลือเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยอีกราว 5 ล้านคน

คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินร่วมๆ 1.5 ล้านล้านบาท หากภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวดี จะช่วยการจ้างงานแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่มีกว่า 10 ล้านคน ช่วยให้เศรษฐกิจภาพรวมของไทยดีขึ้น

ที่ยังน่าเป็นห่วง คือเรื่องของการใช้จ่าย การบริโภคของประชาชน ที่เจอกับปัญหาหนี้สินครัวเรือนพุ่งสูง และการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

...

ที่ไทม์ไลน์ช่วงของการเลือกตั้งคาบเกี่ยวกับช่วงการจัดทำงบประมาณปี 2567 พอดี คาดว่าจะล่าช้าออกไปจนถึงเดือนพ.ย.-ธ.ค. จากเดิมที่จะเริ่มงบฯใหม่ในวันที่ 1 ต.ค.

ซึ่งจะกระทบกับแผนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ไปเต็มๆ

จากกรอบ งบประมาณปี 2567 ที่ ครม.เพิ่งจะอนุมัติวงเงินไป 3.35 ล้านล้านบาท

ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1.65 แสนล้านบาท ตั้งขาดดุลไว้ที่ 5.93 แสนล้านบาท

โดยรัฐบาลคงสัดส่วนงบลงทุนไว้ที่ 20% หรือประมาณ 7 แสนล้านบาทของงบฯปี 67

แม้ทาง ผอ.สำนักงบประมาณ จะยืนยันว่ามีการเตรียมความพร้อมรองรับ หากการจัดทำงบฯปี 67 เกิดความล่าช้า ด้วยการเตรียมร่างระเบียบการเบิกจ่ายและจัดสรรงบประมาณไปพลางก่อน สำหรับระยะเวลา 6 เดือน

นั่นก็เป็นแค่ในส่วนของรายจ่ายประจำ เงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้จ่ายในหน่วยงาน องค์กรทั้งหลาย

แต่ไม่สามารถใช้จ่ายงบฯเพื่อการลงทุนได้

อาจส่งผลกระทบต่อตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจอีก.

เพลิงสุริยะ