ผมไปงานวันตากสินมหาราช ที่พระราชวังเดิม ที่ตั้งกองทัพเรือ เมื่อ 28 ธ.ค. ได้หนังสือ สาระน่ารู้กรุงธนบุรี (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานพระราชวังเดิม พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2565) มาอ่าน หาเรื่องเล่าต่อ

เรื่องพระเจ้าตากกู้ชาติ เริ่มที่เรือรบร้อยลำ ทหารสี่พัน จากจันทบุรี ยึดป้อมวิไชยเยนทร์ ปากคลองบางหลวง ประเดิมชัย ไปต่อด้วยการรบไล่พม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น อยุธยา

ดูอนุสาวรีย์ พระเจ้าตากทรงพระแสงดาบหลายท่วงท่า แสดงสัญลักษณ์ของนักรบ...แลกเลือดแลกเนื้อ ระหว่างปราบเจ้าชุมนุมต่างๆ คงอ่านกันมามากแล้ว

แต่เรื่องที่รู้กันน้อย คือระหว่าง 15 ปี แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ...พระเจ้าตากทรงมีงานหนักกับการฟื้นฟูดูแลแก้ปัญหาบ้านเมือง และราษฎรหลายเรื่องราว

พ.ศ.2311 ราวๆเดือนเมษายน เกิดหนูระบาดกัดกินข้าวในยุ้งฉาง และทรัพย์สินของราษฎร...

ในภาวะหลังเสียกรุงทุกอย่างอัตคัดขัดสน พระเจ้าตากออกประกาศให้ราษฎรดักหนูมาส่งกรมพระนครบาล หลังจากนั้นไม่นาน ก็ลดปริมาณระบาดของหนูลงได้

ปีต่อมา พ.ศ.2312 แม้ลดปริมาณหนูระบาดลงได้บ้าง แต่ปัญหาราษฎรขาดแคลนอาหาร อดอยากกันทั่วหน้า ก็ยังไม่บรรเทา

ในระยะแรกๆของการสถาปนากรุงธนบุรี บ้านเมืองเพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมือง ไม่มีผู้คนทำไร่ทำนา พระเจ้าตากทรงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าสำเภาจีนในราคาแพง นำออกแจกจ่ายราษฎร

เมื่อพ่อค้าขายข้าวสารได้ราคาดี พ่อค้าก็นำข้าวสารมาขายมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขัน ส่งผลให้ข้าวสารถูกลง เป็นประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมแก่คนไทย

โปรดให้แจกข้าวสารให้ขุนนางทั้งไทยจีน คนละหนึ่งถังทุก 20 วัน และแจกจ่ายไปถึงราษฎรที่อดอยาก ทั้งยังโปรดให้ซื้อเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มพระราชทานเป็นจำนวนมาก

...

พ.ศ.2319 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง คล้ายปี 2311 อีกครั้ง ข้าวสารราคาเกวียนละ 2 ชั่ง โปรดให้เกณฑ์ข้าราชการทำนาปรัง (นานอกฤดู) ทุกแห่งทุกตำบล เพื่อไม่ให้ไปแย่งซื้อข้าวจากราษฎร

ถึงกลางปี เสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้โปรดเรียกกองทัพทั้งหมดลงมาประชุมที่กรุงธนบุรี ให้แม่ทัพนายกองคุมไพร่พลออกไปทำนาเป็นการใหญ่ในบริเวณทะเลตม ทั้งฟากตะวันออกและตะวันตก

ทั้งยังขยายพื้นที่ทำนาออกไปถึงท้องทุ่งบางกะปิ ทุ่งสามเสนฟากตะวันตก ทั้งขยายพื้นที่ทำนาที่กระทุ่มแบน และหนองบัว แขวงเมืองนครชัยศรี

บางกอก กลายเป็นแหล่งทำนาสำคัญแห่งใหม่ ในภาคกลางนับแต่นั้น

ยังมีกระบวนการหาเงิน...อีกแบบที่ขึ้นหน้าขึ้นตา คืออาชีพขุดหาทรัพย์สินที่ราษฎรฝังไว้ช่วงเวลาเสียกรุง

ระยะแรกชาวบ้านก็แอบขุดกันตามมีตามเกิด ต่อมาทางราชการเข้ามาควบคุม ห้ามมิให้ขุดโดยพลการ จัดเก็บภาษี นำเงินมาซื้อเสื้อผ้า อาหาร อาวุธ แต่กระนั้นก็ยังมีการละเมิดลักลอบขุดอยู่เนืองๆ

มีกรณีจีนเส็ง มีใบอนุญาตให้รับซื้อสมบัติที่ราษฎรขุด แต่ไม่ส่งมอบเป็นทางการ แอบติดต่อขายกันเองกับพระยาสงขลา ถูกจับได้เจอข้อหากบฏ สุดท้ายโทษถึงประหารชีวิต

ตลอด 15 ปีของแผ่นดินธนบุรี พระเจ้าตากทรงกรากกรำกับภารกิจรอบด้าน การศึกทั้งภายในภายนอก การค้าที่ทรงพยายามทำกับจีน...การดูแลราษฎร การฟื้นฟูพระศาสนา วัฒนธรรม...ฯลฯ

เอาเฉพาะบริเวณ ป้อมวิไชยเยนทร์ ซึ่งพระเจ้าตากโปรดให้เปลี่ยนชื่อป้อมวิไชยประสิทธิ์ แห่งเดียว พื้นที่มุมปากคลองบางหลวงไม่น่าเกินสามสี่ไร่ ก็มีเรื่องเล่าหลายเรื่อง...

ตัวอย่างเรื่องกบฏมหาดา โธ่เอ๋ย กระทั่งพระก็ยังทำได้ ผมอ่านเจอ ตั้งใจจะเอามาเล่าในวันต่อไป.

กิเลน ประลองเชิง