"ทีมการเมือง” ขอเปิดศักราชใหม่ด้วยการคัดสรรบุคคลที่ยึดหลักประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต เคยขึ้นสู่อำนาจบนสภาพบ้านเมืองกำลังเผชิญวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง และวิกฤติเศรษฐกิจโลก
มาขยับมุมคิดเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ประเทศไทยและประชาชนเดินหน้า สู่ประตูแห่งความหวัง โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พาย้อนไปดูการเมืองในรอบ 4 ปีของรัฐบาล
ที่เป็นการแบ่งขั้วต่อสู้ทางการเมืองต่อเนื่องมาก่อนหน้านั้นกว่า 10 ปี ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และคณะกระโดดเข้ามารัฐประหาร และเตรียมตัวสืบทอดอำนาจโดยอาศัยกลไกรัฐธรรมนูญ 60 (รธน.)
สุดท้ายเข้ามาต่อสู้แย่งชิงอำนาจมากกว่าสะสางปัญหา
ยกเว้นการปกป้องสถาบันหลักของชาติที่ทำเต็มที่ โดยมองว่าการเมืองอีกฝ่าย หรือบางส่วนของอีกฝ่าย เป็นภัยความมั่นคงของประเทศ เหมือนเป็นการยันระหว่างสองพวก
“ทำให้การเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้นไม่เกินครึ่งปี 66 ยังเป็นการต่อสู้ในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งชูประเด็นความไม่เป็นประชาธิปไตย รณรงค์ให้ประชาชนเลือกแบบแลนด์สไลด์
...
เพื่อปฏิเสธอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว.หยุดการสืบทอดอำนาจ แต่ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงสนับสนุนแนวคิดฝ่ายตรงข้ามเป็นภัยต่อประเทศ
ผมเป็นห่วงประเทศได้เสียโอกาสมายาวนาน ที่เอากระบวนการทางการเมืองมาแก้ปัญหาประเทศ ก่อนหน้านี้ประเทศและเศรษฐกิจเข้มแข็งพอในเชิงโครงสร้าง
ซึ่งเดินหน้าไปได้ท่ามกลางความขัดแย้ง แต่ปัจจุบันต่อเนื่องมายาวนานถึง 10 ปี เราสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจไปเยอะมาก
ยังไม่นับรวมเราเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งไม่มีระบบจัดการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ระบบดูแลหลักประกันความเป็นอยู่ผู้สูงวัย
ทั้งหมดอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ผูกขาดมากขึ้น ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งหมดมันกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง”
และสถานการณ์โลก ปี 66 ทั้งแง่ความมั่นคง ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กดดันโลก กดดันภูมิภาคอาเซียนมากเป็นพิเศษ
เศรษฐกิจที่หนักหน่วง เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากสงคราม ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่สหรัฐฯ-ญี่ปุ่นกดดันให้เป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ภาวะหนี้สินของประเทศ หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงมาก เรารอให้ผู้มีอำนาจแก้ประเด็นเหล่านี้ แต่ไม่ได้มีการถกเถียงในทางการเมืองเลย
รอการนำทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
แต่การเมืองติดหล่มต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้ว ก็ยังมองไม่ค่อยเห็นทางออกจากสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ ตรงกันข้าม รธน.ที่เป็นแบบนี้ ทำให้การช่วงชิงอำนาจผ่านการเลือกตั้งกับการใช้ทุนมีจำนวนมาก
ครั้งนี้คาดใช้เงินรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
ขณะที่ทางการเมืองยังพูดถึงการสลายขั้ว แต่ยังไม่ได้พูดเชิงขจัดความขัดแย้ง ซึ่งที่ทำเกิดขึ้นใน 2 บริบท
บริบทแรก พรรคการเมืองใหม่ พยายามสร้างจุดขายก้าวพ้นออกจากความขัดแย้ง แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เห็นพรรคใดประสบความสำเร็จที่หลุดพ้นจากการที่ตัวเองอาจเคย
มีบทบาทในความขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่
บริบทสอง เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแปรสลับขั้ว แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเกี่ยวกับความคิดที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ขั้ว
กรณี พปชร. คิดว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) ใช้โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ในการเชื่อมต่อเข้าไป คาดหวัง ไม่เพียงตัวเลข ส.ส.พปชร. สายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้า พปชร.
แต่คาดหวังถึงจำนวน ส.ว. ซึ่งทำให้การจัดตั้งรัฐบาล มีความเป็นไปได้มาก ทำให้เห็นความตึงเครียดระหว่าง ผู้สนับสนุนของ พท.กับพรรคก้าวไกลมากขึ้น
กรณี ภท.เกิดขึ้นจากที่มีแนวโน้มเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุด ทำให้เกิดคำถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว ภท.ยังมีความจำเป็นต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ คาดหมายว่า ภท.ยังจับมือกับ พท.ได้ และมีอำนาจต่อรองมากพออยู่ในฐานะเลือกได้ว่าจะอยู่ขั้วไหนหรืออยู่ในฐานะใด
ทั้งหมดไม่ใช่เป็นการสลายความขัดแย้งที่เป็นพื้นฐานของการแบ่งขั้ว แต่เป็นการต่อรองอำนาจทางการเมืองมากกว่า และมันเกี่ยวกับผลประโยชน์
อาทิ ในแง่ พท.คงได้อานิสงส์จากกระแสฝ่ายที่ต้องการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็ยังไม่กล้าออกมาปฏิเสธวาระที่เกี่ยวกับครอบครัวชินวัตร ที่สุ่มเสี่ยงมีการพูดถึงการกลับประเทศ
ฉะนั้น ฝ่ายการเมืองยังก้าวไม่พ้นกรอบความคิดวาระของตัวเองในการต่อสู้ระหว่างขั้ว ใช้อำนาจต่อรองทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
ผมกังวลว่าเมื่อไหร่ถึงจะปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ที่สะท้อนให้เห็นไม่ต้องการให้คนไทยหมดหวัง แต่อย่ารอการเมือง
ภาคประชาชนต้องเป็นผู้นำขับเคลื่อน
โดยภาคประชาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ที่มองปัญหาในเชิงโครงสร้าง พยายามรวมตัวกัน เพื่อนำเสนอเป็นรูปธรรมต่อพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง รวมถึงสื่อมวลชนก็ต้องช่วย
“อย่างน้อยดึงหรือผลักให้พรรคการเมืองตระหนัก ตอบคำถามว่า สวัสดิการผู้สูงวัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประเทศเข้าสู่ลู่การแข่งขันได้มากขึ้น มีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างไร
เท่าที่ดูการแข่งขันนโยบายทางการเมือง ยังเป็นประชานิยมเฉพาะส่วน ทั้งค่าแรง บำนาญประชาชน ราคาพืชผลเกษตร
โดยไม่พูดถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
อาจมีพรรคก้าวไกล พยายามนำเสนอ แต่ถูกกดทับโดยการชูประเด็นมาตรา 112 คุณเศรษฐา ทวีสิน ก็พูดถึง แต่ไม่รู้ว่าพท.มีอำนาจ คุณเศรษฐาจะเป็นผู้นำไหม
และวาระนั้นกับวาระการกลับบ้านอะไรสำคัญกว่ากัน”
ภาคประชาชนขับเคลื่อนคล้ายจัดให้พรรคการเมือง ลงสัตยาบันยกร่าง รธน.ฉบับใหม่หลังเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ถูกต้อง ผมถึงเสียดายในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่เสนอมาตลอดให้ปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว.ก่อนการเลือกตั้ง และจัดทำประชามติเกี่ยวกับ รธน.พร้อมวันเลือกตั้งได้
เพื่อถอดปมใหญ่แห่งความขัดแย้งออกไป
และเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองแข่งขันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
แต่น่าเสียดายที่ผู้มีอำนาจไม่ลดละความเชื่อ ต้องอาศัยกติกาที่ตัวเองได้เปรียบให้ดำรงอยู่ต่อไป ทำให้กระบวนการทางการเมืองมันบิดเบี้ยว
การเลือกตั้งมีการซื้อเสียงสูงสุดในประวัติศาสตร์ 250 ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ การกลับประเทศของอดีตผู้นำ และโครงสร้างประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจที่ชำรุด ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศและประชาชน เป็นเข็มทิศชี้ไปทิศทางวิกฤติหลังเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ขณะนี้ยังมองไม่เห็นจะเดินหน้าต่อภายใต้โครงสร้าง รธน.ฉบับนี้ได้อีกนานเท่าไหร่
เพราะขณะนี้ความเชื่อถือในองค์กรอิสระถูกสั่นคลอนไปมาก กระบวนการทางการเมืองก็เป็นอย่างที่เห็น
คนถึงคาดหวังการเมืองที่ดี โดยได้มีโอกาสเขียน รธน.ตามกระบวนการที่ดี เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมาเริ่มคลายความขัดแย้ง เพื่อวางอนาคตร่วมกัน รวมไปถึงพูดเรื่องที่ยากและละเอียดอ่อนได้อีกด้วย
ไม่เช่นนั้นก็อยู่ในสภาพแบบนี้ สมมติหลังเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อ ต้องอาศัย 250 ส.ว.หรือ ส.ว.มาต่อรองเพื่อให้ได้ ไปต่อ...? และทางกลับกัน พท.ชนะ...!! แล้วมีวาระกลับบ้าน
คงได้เห็นการไม่ยอมรับ ความขัดแย้งไม่จบสิ้น...?
และมองเห็นความขัดแย้งรออยู่ข้างหน้าเหมือนกัน...!!
ท่ามกลางการเมืองอยู่วังวนเดิม ปัญหาประเทศถูกละเลย
การเมืองต้องกลับมาตอบโจทย์ของประเทศไทย.
ทีมการเมือง