ปิดฉากลงแล้วสำหรับ “ประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำความร่วมมือเขตเศรษฐกิจเอเชีย–แปซิฟิก 2022 (เอเปก) ก่อนส่งมอบหน้าที่ให้แก่ “สหรัฐอเมริกา” สานต่อภารกิจประธานเอเปก 2023

ทว่าผลลัพธ์การประชุมปีนี้ “ผู้นำเอเปกร่วมกันรับรองร่างเอกสาร 2 ฉบับ” คือ การรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อวางรากฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนี้

การนี้ “รัฐบาลไทย” ยังได้หารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศอย่าง “สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน” ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการได้หารือแผนความร่วมมือลงนามร่วมกัน 5 ฉบับ “สหรัฐอเมริกา” ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปกได้หารือกับรัฐบาลไทยในความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจผ่านข้อตกลงต่างๆร่วมกัน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

...

ในส่วน “ไทย–ซาอุดีอาระเบีย” ก็เดินหน้าความร่วมมือทั้งการลงทุน สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานและเปิดรับแรงงานไทยทำงานในซาอุฯ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชาติและประชาชนหลายมิตินี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ บอกว่า

เดิมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นมี “อาเซียน” เป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศชัดเจนที่สุด ต่อมาในปี 1989 “ออสเตรเลียเป็นแกนนำจัดตั้งเอเปก” เพราะต้องการมีบทบาทในภูมิภาคนี้จนหลายประเทศเห็นประโยชน์เข้าร่วมกลายเป็น 21 เขตเศรษฐกิจ สาเหตุที่ไม่เรียกประเทศก็ต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมือง

เป้าหมายแรกๆ “เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน” ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพหมุนเวียนกัน ดังนั้นประเทศเข้าร่วมย่อมมีข้อดีมากกว่าข้อเสียแน่นอน

เหตุนี้การที่ “ประเทศไทยเป็นประธานและเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเอเปก” ย่อมมีข้อดีคือผู้นำนานาชาติ ผู้แทนระดับต่างๆ นักธุรกิจ นักลงทุน และสื่อมวลชนทั่วโลก ต่างเดินทางเข้ามาร่วมการประชุมไม่ต่ำกว่า 6,000-7,000 คน ทำให้ได้เห็นศักยภาพของประเทศอันจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนในอนาคตด้วยซ้ำ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ “ไทยนำเสนอความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ หรือ BCG (Bio–Circular–Green Economy)” เรื่องนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับ “เศรษฐกิจโลก” ที่กำลังเผชิญความท้าทายของพื้นฐานความมั่นคงด้านอาหาร เงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง วิกฤติพลังงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน

แต่ว่า “การผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG” ไม่ควรหยุดอยู่แค่เวทีเอเปก ควรนำสู่เวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม เพื่อให้เราอยู่ในสถานะผู้กำหนดทิศทาง กฎการค้า และการลงทุนของภูมิภาคหรือของโลก

แล้วไทยต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเตรียมพร้อมคุณภาพทรัพยากรผ่านระบบการศึกษา โดยให้บริษัทข้ามชาติเป้าหมายมาจัดตั้งสถาบันวิจัยระดับโลก พัฒนากลไกการถ่ายทอด และเทคโนโลยีขึ้นมาด้วยตัวเอง

ส่วนความร่วมมือด้านการคลัง ด้านการเกษตร-ป่าไม้ และด้านสาธารณสุขนั้นมีความคืบหน้าตามแนวคิดเชื่อมโยงเปิดกว้างสมดุลมากกว่าเดิม แต่ความร่วมมือด้าน SMEs ด้านกิจการสตรียังไม่เห็นความก้าวหน้าของความร่วมมือเพิ่มเติมมาก ดังนั้นเวทีเอเปกควรเปิดกว้างให้ประชาชน หรือภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากกว่านี้

ถ้าย้อนกลับมาดู “การขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ระยะที่สี่” ในการประชุมเอเปกครั้งนี้ไม่มีความคืบหน้าสำคัญ คาดว่าการประชุมผู้นำเอเปกในสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าภาพในปีหน้านั้นน่าจะมีความคืบหน้า ชัดเจน เพราะเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทำให้เขาเดินหน้าเต็มที่ในการเปิดตลาดเอเชีย-แปซิฟิก

สาเหตุจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปกมีขนาดเศรษฐกิจ 52 ล้านล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็น 61-62% ของจีดีพีโลก หรือ 2 ใน 3 ของจีดีพีโลก ทำให้มูลค่าการค้าโดยรวมของสมาชิก 50% ของปริมาณการค้าโลก

ถ้าหากว่า “FTAAP เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมชัดเจน” ข้อตกลงเขตเศรษฐกิจอาเซียนภายใต้ AEC หรือบทบาทของ CPTPP หรือ TPP จะลดความสำคัญลงแล้วการเกิด FTAAP ก็จะทำให้สินค้าของไทยเปิดขยายตลาดในละตินอเมริกาและสหรัฐอเมริกาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังประเทศที่ไม่ได้มี FTA

ดังนั้นปริมาณการค้าไทยจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5% แล้วยิ่งหาก “สหรัฐอเมริกา” เป็นผู้นำในการดำเนินการ FTAAP ก็จะทำให้ข้อตกลงเปิดเสรีการค้าที่ครอบคลุมมากกว่าการค้า การลงทุน อันจะขยายไปในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และคุ้มครองสิทธิแรงงานอีกด้วย

เช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นในข้อตกลง FTA ของ TPP ที่อาจเกิดผลดีระยะยาวในการยกระดับมาตรฐานแรงงาน และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ แต่ต้องระวังผลกระทบต้นทุนภาคเกษตรกรรม และภาคสาธารณสุขที่อาจเพิ่มขึ้น อันจะกระทบต่อเกษตรกร หรือประชาชนผู้ใช้ยารักษาโรคตามมาได้

ตอกย้ำด้วยในช่วงเดือน พ.ย.2565 นี้ “ภูมิภาคอาเซียนค่อนข้างโดดเด่นบนเวทีโลก” เพราะมีการประชุมในระดับภูมิภาคและระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประชุมอาเซียนในกัมพูชา การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ที่อินโดนีเซีย และการประชุมผู้นำเอเปกในไทย กลายเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนในภูมิภาคนี้

ยิ่งกว่านั้นยังได้พบปะหารือกับ “ผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำจีน” ทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองและการค้าลดลง อันเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า แล้วการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มสมาชิกเอเปกก็มีแนวโน้มขยายตัวก้าวกระโดดคาดว่ามีมูลค่าราว 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2565 หรือคิดเป็น 72% ของปริมาณการค้าโลกของไทย

เพราะเอเปกสนับสนุนเศรษฐกิจภูมิภาคให้สิทธิประโยชน์ประเทศนอกกลุ่มเอเปกที่จะช่วยขยายห่วงโซ่อุปทานกว้างขึ้น “ผู้ประกอบการได้ประโยชน์เต็มที่” เขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคเอเปก และ EEC น่าสนใจขึ้น

สิ่งที่อาจตามมาคือ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” การผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ และการเมืองในบางประเทศควบแน่นกว่าเดิม ทำให้การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และการเมืองเป็นเงื่อนไขต้องทำก่อนเปิดเสรี

สุดท้ายนี้แม้ว่า “การประชุมเอเปก” เป็นการแสดงความพร้อมในการจัดงานระดับนานาชาติอันจะทำให้ประเทศไทยเพิ่มบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศ แต่การสลายการชุมนุมผู้ต่อต้านเอเปก2022 ก็ทำลายภาพพจน์ไทยในสายตาโลกเช่นกัน เพราะการยื่นข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมมักเกิดในหลายเวทีการประชุมผู้นำระดับโลก

แต่กรณี “เจ้าหน้าที่รัฐ” ใช้ความรุนแรงโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายต่อประชาชนผู้เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อ “ผู้นำเอเปก” เช่นนี้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม

เพราะข้อเรียกร้องแก้ปัญหาการเห็นต่างด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ในการหารือบนหลักเหตุผลการมีส่วนร่วมนั้น “รัฐบาล” ไม่ควรยัดเยียดข้อตกลงที่มีผลต่อประชาชนโดยไม่เปิดให้แสดงความเห็นเพื่อการมีส่วนร่วม

ย้ำว่า “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม” ที่ประสบความล้มเหลวภายใต้ระบอบเศรษฐกิจ การเมืองผูกขาดในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เมื่อระบอบผูกขาดไม่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของสังคมได้ โดยเฉพาะปัญหาของคนยากคนจนด้อยโอกาสทั้งหลายนี้

ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องมีการชุมนุมเรียกร้องหากผู้ชุมนุมทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกับประชาชนส่วนใหญ่การชุมนุมนั้นก็เหี่ยวเฉาไปเองและด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สามารถใช้ “ประชาธิปไตยทางตรง” (Direct Democracy) ในการถามความเห็นประชาชนได้ตลอดในทุกๆเรื่องที่มีความสำคัญโดยไม่ต้องผ่านผู้แทนก็ได้

นี่คือบทสรุป “ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเอเปก” ที่เป็นโอกาสสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระดับภูมิภาค เสริมสร้างบทบาทไทยในเวทีโลกอันจะเกิดประโยชน์ให้ประเทศ.