“พล.อ.ประวิตร” ห่วง ประชาชนเป็นเหยื่อภัยฉ้อโกงออนไลน์ สั่งกวาดล้าง ปี 65 ให้เป็นมาตรการเร่งด่วน เจ้าหน้าที่ลุยปราบจับกุมได้แล้ว 1,383 คดี ผู้ต้องหา 1,980 ราย
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างการเยือนประเทศกัมพูชาเมื่อ 22-24 พฤศจิกายนนี้ ได้เจรจาขอความร่วมมือรัฐบาลกัมพูชาให้ช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เข้าร่วมปฏิบัติการปราบปราม เพื่อยุติปัญหาให้หมดสิ้นไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก
โดยที่ สตช.เป็นหน่วยแกนหลักที่ต้องบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มอบหมาย พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอก สุชาติ ผ่องพุฒิ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง หารือกำหนดมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติในการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้เสร็จใน 3 เดือน โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวน 132,747 เรื่อง แยกเป็นคดีออนไลน์ 22 ประเภท กรณีหลอกลวงซื้อขายสินค้าสูงสุด จำนวน 43,323 คดี การโอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม จำนวน 18,143 คดี และการหลอกลวงให้กู้เงินแต่ไม่ได้รับเงิน จำนวน 15,887 คดี สามารถจับกุมอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปี 2565 แยกเป็นพนันออนไลน์สูงสุด 697 คดี ผู้ต้องหา 1,198 คน และการหลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน 686 คดี ผู้ต้องหา 782 คน
...
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในรูปแบบของการเงินนอกระบบ (เช่น แชร์ลูกโซ่ การเล่นแชร์และการขายตรง) การพนันออนไลน์ การหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ โดยมีมติเห็นชอบ มาตรการเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ 6 ด้าน ประกอบด้วย มาตรการป้องกันปราบปราม มาตรการสืบสวนปราบปราม การปรับแก้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องและกำหนดอัตราโทษสูงขึ้น รวมทั้ง มาตรการดูแลคุ้มครองประชาชน และมาตรการสร้างความร่วมมือเชิงรุก และพิจารณาแนวทางการดำเนินการเร่งด่วน อาทิ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศ หรือข้อบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ระงับช่องทางการทำธุรกรรมออนไลน์กับบัญชีต้องสงสัย การกำหนดให้การโอนเงิน Mobile Banking ในจำนวนที่กำหนดขึ้นไป ต้องใช้ซิมโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนเท่านั้น (2) กสทช. ออกมาตรการในการลงทะเบียนซิม (3) ปปง. แก้ไขกฎกระทรวง เรื่องการกำหนดจำนวนเงินสดในการทำธุรกรรมที่สถาบันการเงินต้องรายงานต่อ ปปง. และกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินต้องดำเนินการเมื่อตรวจพบบัญชีม้า นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการดำเนินการในระยะถัดไป ได้แก่ การจัดให้มีการระบุตัวตน biometrics ของผู้เปิดและใช้บัญชีตั้งแต่เริ่มแรกและต่อมาเป็นระยะๆ โดยวิธีการ National Digital ID หรือ NDID เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลถูกต้องแท้จริงและเป็นปัจจุบัน
สำหรับการประชุมวันนี้หน่วยปฏิบัติหลัก ประกอบด้วย กสทช., ธปท., ปปง., และ สตช. ร่วมพิจารณากำหนดร่างมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติ (Work Flow) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา การพิจารณากำหนดหรือทบทวนเป้าหมายบุคคลพฤติกรรมเสี่ยงสูง หรือต้องเฝ้าระวัง กรณีบัญชีม้า (รหัส HR-03) โดยมีระบบแจ้งเตือนผ่านทาง Mobile Banking และรณรงค์รู้เท่าทันคนร้ายช่องทาง Social Media ของธนาคารพาณิชย์.