เท่าที่ติดตามข่าวควันหลงจาก การประชุมเอเปก 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพผ่านไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิด Soft Power ที่นอกเหนือจากการคาดหมายเอาไว้ คือไม่ได้เกิดจากเวทีเอเปกโดยตรง แต่เป็น แรงบันดาลใจ จากเวทีเอเปก ปรากฏว่า ชะลอม apec เป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมประชุมและผู้นำเขตเศรษฐกิจ ที่ช่วยแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ ชะลอม apec กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก รอดูว่า ฝรั่งเศส เมืองแฟชั่น จะนำผลิตภัณฑ์ของไทยไปแปลงให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง

ทีนี้เราต้องมาติดตามเป้าหมายของการประชุมเอเปก ภายใต้แนวคิด EMBRACE ENGAGE ENABLE ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับ การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC เป็นเวทีของภาคเอกชนที่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนความคิด การบูรณาการทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงภาคสังคมในระดับภูมิภาค เพื่อเป้าหมายที่ว่าด้วย การเติบโตแบบยั่งยืนร่วมกัน

ในจำนวนนั้นมี องค์กรหลัก ที่ช่วยภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นกำลังสำคัญ ได้แก่ ปตท.ที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. เป็นตัวแทนภาคเอกชนไทยเข้าร่วมประชุมด้วย ความสำคัญของภาคเอกชน ตามโมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้พันธกิจ คาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero สะท้อนถึงทิศทางพลังงานแห่งอนาคต ด้วยธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ระบบนิเวศ รถยนต์ไฟฟ้า และนวัตกรรมเชื่อมโยงวิถีชีวิตของประชากร

พลังงานที่ยั่งยืน ไม่ได้อยู่แค่คำจำกัดความที่ พลังงานเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ความเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของประชากรโลกด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยา เวชภัณฑ์ อาหาร ตลอดจนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี สู่เป้าหมายเดียวกัน คือบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ ในปี 2050 เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นหลักการสำคัญของการประชุมเอเปกครั้งนี้

...

ไม่ใช่แค่ภาครัฐหรือผู้นำเขตเศรษฐกิจเท่านั้น ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชากรโลก เวทีเสวนา Rethinking Healthcare After The Pandemic ที่มี Dr.Jos Vandelaer จาก องค์การอนามัยโลก และ Mr.Calvin W.Schmidt ผู้บริหารของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เข้ารวมแลกเปลี่ยนความคิดด้วย

สรุปสาระสำคัญก็คือการส่งเสริมระบบสุขภาพภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เน้นถึงความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงด้านสุขภาพ ไม่ใช่แค่การบริการเพียงพอ แต่ต้องเข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึงด้วย การดำเนินธุรกิจไปสู่ Life Science ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตในการก้าวที่ไปสู่ธุรกิจ Future Energy and Beyond ของ ปตท.เป็นตัวอย่างของการสะท้อนวิสัยทัศน์องค์กรและผู้นำองค์กรในปัจจุบันและอนาคต.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th