ชาวสมุย ผนึกกำลังเสนอ “กรณ์” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ผลักดัน “สะพานสมุย-สุราษฎร์” พัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อม “อ่าวไทย-อันดามัน” คืนชีพเศรษฐกิจภาคใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สุราษฎร์ธานี ว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้รับเชิญจากสมาคมสมุย เพื่อร่วมเสวนาเรื่องการสร้างสะพานเชื่อม “เกาะสมุย-แผ่นดินใหญ่” โดยมีสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักธุรกิจ ผู้ประกอบการโรงแรม ประชาชนชาวเกาะสมุย กว่า 200 คน รวมถึง ว่าที่ผู้สมัครส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 2 พรรคชาติพัฒนากล้า นางพงศ์ศรี นาคเมือง หรือ ทนายอ๋อย ทนายความชื่อดังแห่งเกาะสมุย ที่เกาะติดการเรียกร้องก่อสร้างสะพานมาอย่างต่อเนื่องด้วย
นายกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน สิ่งที่ต้องรีบแก้ไขเพื่อสะสางปัญหาด้านอื่นๆ ได้คือ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ประเทศเราจะมีทรัพยากรเพียงพอในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้ เศรษฐกิจต้องดีก่อน ซึ่งจากการพูดคุยกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ทุกคนเห็นตรงกันว่า การจะแก้ปัญหาปากท้องได้ เราต้องมีจุดยืนในการสร้างสะพานเชื่อม เกาะสมุย-แผ่นดินใหญ่ สะพานแห่งนี้จึงเป็นเพชรเม็ดงามของอ่าวไทย แต่เพชรจะงามได้ต้องอยู่บนแหวน ที่ออกแบบเพื่อให้การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้สะดวก ดังนั้นตนจึงตั้งใจจะมาทอดสะพานแห่งโอกาสและระดมสมองเพื่อให้การก่อสร้างสะพาน เพื่อเป้าหมายในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวของภาคใต้ให้สามารถรับนักท่องเที่ยวรายได้สูงจากทั่วโลกได้ตลอดทั้งปี มี land-bridge มอเตอร์เวย์พาดผ่าน จากอ่าวไทยถึงอันดามัน จากหาดเฉวงจนถึงปลายแหลมพรหมเทพ ซึ่งจะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ครึกครื้น พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งผลต่อจีดีพีประเทศ
...
นายกรณ์ กล่าวว่า นอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว การมีสะพาน ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนด้วย เพราะปัจจุบัน ต้นทุนค่าครองชีพที่สูงมากทั้งราคาน้ำมันที่โดยทั่วไปก็สูงอยู่แล้ว แต่ที่เกาะสมุยราคาสูงกว่าแผ่นดินใหญ่ถึง 2 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ แพงกว่าปกติเกือบทุกรายการ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต เข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยากลำบาก อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ในขณะที่ รถไฟฟ้าใน กทม. มีรถไฟฟ้านับสิบสายมีการลงทุนเป็นแสนล้าน แต่เกาะสมุยกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ
“ถ้าจัดลำดับผลในทางบวกต่อประชาชน คือ 1. ลดค่าครองชีพของชาวเกาะสมุยกว่า 6 หมื่นคน และพี่น้องชาวใต้ ชาวอีสาน ที่ทำมาหากินที่นี่อีกหลายแสนคนในแต่ละปี 2. การเพิ่มคุณภาพชีวิต เข้าถึงการรักษาพยาบาล ลดต้นทุนการเดินทางของนักเรียนนักศึกษา และประชาชน 3. การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้กับชาวสมุยที่มีธรรมชาติที่งดงามมาก ส่วนกระบวนการก่อสร้างนั้น คิดว่าถึงเวลาแล้ว ต้องสื่อสารให้พี่น้องชาวเกาะสมุยได้รู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ส่วนผลกระทบทางลบมีแต่บริหารจัดการได้ กระบวนการทางการเมืองที่เหมาะสมคือต้องมาจากภาคประชาชนส่งสัญญาณไปยังพรรคการเมืองว่าเราได้กลั่นกรอง ทบทวน พิจารณาแล้ว ในอนาคตอาจเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ จากนั้นเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทั่วโลก เป็นโอกาสในการสร้างประติมากรรมและแลนด์มาร์กที่สำคัญ และจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานนับชั่วอายุคน และตนก็พร้อมที่จะเคียงข้างประชาชนไปพูดทุกเวที หากมีการดีเบตเรื่องการสร้างสะพานแห่งนี้" นายกรณ์ กล่าว
ด้านนายวิรัช พงษ์ฉบับนภา หรือ โกฉุย กล่าวว่า ตนในฐานะเป็นคนเกาะสมุยโดยกำเนิด ในอนาคตหากเกาะสมุยไม่เตรียมความพร้อมการเดินทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว อาจทำให้เกาะสมุยไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้จากปัญหาการเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่ที่ล่าช้า เครื่องบินก็มีขีดจำกัด และค่าโดยสารราคาสูง ซึ่งตนได้ออกแบบสะพานไว้ ตั้งแต่ปี 2560 โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย มีช่องทางรถยนต์ และเลนสำหรับรถจักรยานยนต์ที่แยกส่วนเพื่อความปลอดภัย ส่วนบริเวณกึ่งกลางสะพานออกแบบเป็นจุดชมวิว มีที่จอดรถเพื่อชมความงามของทะเลอ่าวไทยและถ่ายรูป นอกจากนี้ ด้านล่างมีพื้นที่ช็อปปิ้งมอลล์ และลานสำหรับทำกิจกรรม อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการออกแบบด้วยแนวคิดส่วนตัว แต่ก็อยากให้รัฐบาลดำเนินการในแนวทางเดียวกัน เพื่อผลประโยชน์ในภาพรวมเชื่อว่าจะพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทย พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หลังจากซบเซามาจากหลายวิกฤติต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในมิติของคุณภาพชีวิตประชาชน นายวิรัช กล่าวว่า ปัจจุบัน เกาะสมุยมีโรงพยาบาลที่เครื่องมือทันสมัยเพียงไม่กี่แห่ง หากต้องรับการผ่าตัดกว่าจะนั่งเรือเฟอร์รี่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงฝั่ง ส่งต่อไปยังโรงพยาบาล หลายคนต้องเสียชีวิต แต่ถ้ารักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมก็ต้องใช้เงิน 3-5 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน ต้นทุนทุกอย่างบนเกาะสมุยจะสูงกว่าบนฝั่งแผ่นดินใหญ่มาก ทั้งราคาน้ำมัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สินค้าอุปโภคบริโภค ที่สูงกว่าปกติ หากมีสะพาน ต้นทุนที่ทุกคนต้องแบกภาระจะลดลงตามไปด้วย ระยะทาง 18 กิโลเมตรไม่ไกล น้ำทะเลที่ไม่ลึก สึนามิไม่มี องค์ประกอบทั้งหมดพร้อมมาก สะพานนี้คือหัวใจและเป็นหยาดโลหิตของชาวสมุย
ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า การสร้างสะพาน นอกจากจะสร้างเศรษฐกิจท่องเที่ยวของเกาะสมุยแล้ว ยังจะสามารถเป็นมรดกตกทอดไปอีก 100 ปี ในช่วงสถานการณ์โควิด นักท่องเที่ยวชาวไทยมาสอนให้ชาวเกาะสมุยให้เป็นเจ้าบ้านที่น่ารัก จากเดิมที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศที่อื่นเริ่มเปิด นักท่องเที่ยวไทยบนเกาะสมุยกลับหายไป ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะค่าเดินทางที่แพงมาก จากการผูกขาดของสายการบิน เราจะเอาอะไรไปสู้กับจังหวัดอื่น การสร้างสะพานจะตอบโจทย์ในหลายมิติตามที่ทุกท่านได้กล่าวไปแล้ว ถ้าพรรคการเมืองไหนมาด้วยนโยบายเหล่านี้เราต้อนรับอยู่แล้ว เรามากันไกลแล้วและจะไม่กลับไปเป็นแบบเดิมอีก เราจะเดินหน้าต่อ และสะท้อนไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้ได้รู้ว่า ถึงเวลาแล้วกระบวนการเศรษฐกิจจะลงรูปลงรอยไปเอง
ในขณะที่ชาวบ้าน และนักธุรกิจทั้งหมด เห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า หากมีสะพาน เศรษฐกิจทั้งฝั่งสมุยและขนอมจะดีขึ้น นักท่องเที่ยวระยะใกล้จะมีเวลาอยู่สมุยนานมากขึ้น มีโอกาสท่องเที่ยวที่ต่างๆ มากขึ้น เช่น เดินทางไหว้พระธาตุ วัดเจดีย์ ขอโชคลาภจากไอ้ไข่ พักที่ขนอม 1 คืน รุ่งเช้าข้ามฝั่งไปสมุย ย่นระยะเวลาเดินทางได้มาก หรือจากสมุยมาเที่ยวที่ขนอม เพราะทะเลขนอม สิชล ก็สวยงามไม่แพ้กัน และพร้อมที่จะสนับสนุน พรรคชาติพัฒนากล้า ที่จะมาร่วมผลักดันให้เกิดสะพานแห่งความฝันของชาวสมุย ให้เกิดขึ้นจริง
นายกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากชาวสมุยมีฉันทามติในการก่อสร้างสะพาน ต้องพูดให้เยอะ สื่อให้มาก รวมพลังชาวสมุย ส่งเสียงดังให้ผู้มีอำนาจในอนาคตต่อไป ในช่วงเลือกตั้งนักการเมืองถูกบังคับโดยกติกา ต้องถามเรื่องนี้ว่าจะสนับสนุนหรือไม่ และจะสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร และถามด้วยว่าทำไมที่ผ่านมาไม่ทำ เขาดีแต่พูดหรือจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง
หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวกับพี่น้องชาวสมุยว่า เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องสมุย สุราษฎร์ฯ และพี่น้องชาวใต้โดยรวมแล้ว นี่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ภาคใต้พัฒนาได้อย่างแน่นอน ข้อกังวล และผลกระทบต้องอุดรูรั่ว และหาคำตอบให้คนที่เห็นต่างได้เข้าใจรอบด้าน