“บิ๊กตู่” มอบรางวัลพระราชทาน ขอเป็นกำลังใจองค์กรธุรกิจไทยพัฒนาต่อเนื่อง ชม เป็นกำลังสำคัญยกระดับความสามารถของประเทศ

วันที่ 23 พ.ย. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Thailand Corporate Excellence Awards 2022 และรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2022 พร้อมด้วยรางวัล Thailand Digital Excellence Awards 2022 เพื่อมุ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจชั้นนำขนาดใหญ่และองค์กร SMEs เข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีมอบรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Thailand Corporate Excellence Awards 2022 และรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2022 รับพระราชทานรางวัลหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2022 ประกอบด้วย

...

1. ประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ได้แก่ บริษัท เค-เฟรช จำกัด
2. ประเภทธุรกิจบริการ (Services) ได้แก่ บริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด

สำหรับรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2022 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9 สาขารางวัล โดยแบ่งประเภทของสาขารางวัลออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ตามจำนวนรายได้รวมของปี พ.ศ. 2565 ดังนี้

1. รางวัลสำหรับองค์กรรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 8 สาขา ได้แก่
(1) สาขาความเป็นเลิศด้านการบริหารทางการเงิน คือ ธนาคารกสิกรไทย
(2) สาขาความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล คือ SCG
(3) สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คือ Huawei
(4) สาขาความเป็นเลิศด้านผู้นำ คือ SCG
(5) สาขาความเป็นเลิศด้านการตลาด คือ AIS
(6) สาขาความเป็นเลิศด้านสินค้า/การบริการ คือ ธนาคารกรุงไทย
(7) สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ บางจาก
(8) สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร คือ AIS

2. รางวัลสำหรับองค์กรขนาดกลางที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 1 สาขา คือ สาขาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการโดยรวม ได้แก่ SCB X10

จากนั้น นายกรัฐมนตรีมอบโล่รางวัล รวม 40 รางวัล ให้กับองค์กรต่างๆ ด้วย แบ่งเป็น

1. Thailand Corporate Excellence Awards 2022 จำนวน 21 รางวัล
2. รางวัล SMEs Excellence Awards 2022 จำนวน 14 รางวัล โดยแบ่งลำดับรางวัล เป็น 2 ระดับ คือ Gold Award และระดับ Silver Award
3. รางวัล Thailand Digital Excellence Awards 2022 จำนวน 5 รางวัล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแสดงความยินดีกับทุกองค์กรที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติครั้งนี้ ขอชื่นชมผู้บริหารทุกคนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้องค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาบริหารจัดการ ถือเป็นปัจจัยหลักในการสร้างศักยภาพของภาคธุรกิจไทยให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจเอกชนทั้งองค์กรขนาดใหญ่และ SMEs ในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาครัฐเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมและเครื่องมือสนับสนุนที่ช่วยให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล รวมถึงการดูแลกติกา กฎระเบียบให้มีความเป็นธรรมและกระจายความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในสังคม


ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจให้เข้มแข็ง มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เห็นได้จากแนวทางในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศของสถาบันระดับโลกทั้ง IMD (International Institute for Management Development) หรือ WEF (World Economic Forum) ที่ต่างมีการพิจารณาถึงประสิทธิภาพของทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ ควบคู่ไปกับปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศไทยเผชิญทั้งจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี การค้าและการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในโลก และปัจจัยภายใน เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัย การขาดแคลนกำลังแรงงานที่มีศักยภาพ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้านสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีความเกี่ยวพันกับปัญหาในระดับโลก ซึ่งผู้นำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ต้องสามารถรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง มองเห็นสัญญาณและคาดการณ์ไปข้างหน้า เพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต โดยใช้ความสามารถในการพัฒนาและบริหารทรัพยากรต่างๆ ทั้งคน เงิน เทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรม สินค้าและบริการที่เป็นเลิศ ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และมีความยั่งยืน โดยไม่สร้างปัญหาและผลกระทบทางลบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีภูมิคุ้มกันอย่างมั่นคง

ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายที่จะพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยการสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงจากเทคโนโลยี ขจัดข้อจำกัดที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นใดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

“ขอชื่นชมสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA และองค์กรพันธมิตร ที่มีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจของไทย ให้มีความรู้ที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงและมีความพร้อมในการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ในโลกแห่งอนาคตแล้ว รวมทั้งได้ริเริ่มจัดให้มีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติ ให้กำลังใจ และเผยแพร่ผลงานขององค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัล เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีแก่องค์กรอื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จขององค์กรที่มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ควบคู่กับการผลักดันให้องค์กรธุรกิจไทยสามารถก้าวเดินเทียบเคียงไปกับประชาคมโลกได้”

อย่างไรก็ตาม รางวัลที่องค์กรต่างๆ ได้รับในวันนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินหน้าพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ และนายกรัฐมนตรีขอเป็นกำลังใจให้ทุกองค์กรธุรกิจไทยมุ่งมั่นพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับความสามารถของประเทศ.