รองโฆษกรัฐบาล ตำหนิผู้ไม่หวังดีให้ข้อมูลบิดเบือน ทำลายความน่าเชื่อถือประเทศ ชี้ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราว่างงานต่ำมาก เผย JCR ปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือไทยขึ้นอยู่ในระดับ A

วันที่ 23 พ.ย. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ปรากฏชัดจากตัวเลขรายได้แผ่นดินปีงบประมาณ 2565 ที่จัดเก็บได้มากกว่าที่ประมาณการไว้ถึง 1.5 แสนล้านบาท ภาพรวมเศรษฐกิจ 9 เดือนแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 3.1 พร้อมตำหนิกลุ่มผู้ไม่หวังดีบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำลายความมั่นใจต่อเศรษฐกิจประเทศ ล่าสุดมีการแชร์ส่งต่อข้อมูลเท็จว่ารัฐบาลกู้เงินจนหนี้ท่วม คลังไม่สามารถจัดการหนี้ได้ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

รองโฆษก ระบุต่อไปว่า ดูได้จากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 2565 รัฐบาลกู้จริง 6.52 แสนล้านบาท จากที่ประมาณการไว้ 7 แสนล้านบาท ขณะที่ภาพรวมของการกู้เงินในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือและเยียวยาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 หดตัวลดลงเพียงร้อยละ 5.1 ซึ่งดีกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 8 นอกจากนี้ ระดับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565 อยู่ที่ 10.37 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.41 ต่อ GDP ต่ำกว่าที่กำหนดเพดานไว้ร้อยละ 70 ซึ่งกระทรวงการคลังให้ความมั่นใจว่าไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลัง เนื่องจากรัฐบาลมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Affordability) รวมทั้งยังมีการติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด

นางสาวรัชดา เปิดเผยด้วยว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับสากล ล้วนมีความมั่นใจในภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยทยอยออกการรายงานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ Stable Outlook ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจค่อนข้างมากภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ดังนี้

...

1. Moody’s (7 เม.ย. 2565) เชื่อว่า แม้หนี้รัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น แต่ตัวชี้วัดภาคการคลังและหนี้สาธารณะยังคงแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับความแข็งแกร่งได้ต่อไป

2. Fitch Ratings (21 มิ.ย. 2565) รายงานว่า รัฐบาลได้บรรเทาความเสี่ยงของหนี้ภาครัฐบาลด้วยการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ มีตลาดทุนในประเทศที่มั่นคง และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท

3. Japan Credit Rating Agency (11 พ.ย. 2565) ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับ A- เป็น A และคงมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

อย่างไรก็ตาม นางสาวรัชดา กล่าวในช่วงท้ายว่า “ขอให้ประชาชนรับฟังข้อมูลด้วยความระมัดระวัง เพราะมีผู้ที่มีพฤติกรรมชอบบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศ การมีมุมมองและการวิเคราะห์ที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมาจากฐานข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ประเด็นสถานะทางการคลังประชาชนสามารถติดตามตัวเลขที่ถูกต้องจากการเผยแพร่ของส่วนราชการ และยังมีการรายงานภาพรวมเศรษฐกิจประเทศจากสถาบันชั้นนำของต่างประเทศ ซึ่งจะได้ทราบข้อเท็จจริงจากการประเมินของหลายมุมมอง และปัจจุบันนี้มีข้อสรุปว่า สถานะการเงินการคลังไทยมีความแข็งแกร่ง และภาพรวมเศรษฐกิจที่ดี อัตราการว่างงานต่ำมากด้วย”