“พล.อ.ประวิตร” ปลื้ม เจ้าหน้าที่สำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์อเมริกา ชื่นชมผลงานปราบค้ามนุษย์ไทย เชื่อ จะถูกจัดระดับเป็น Tier 1 อย่างแน่นอนในปีหน้า

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทําการประมง (FMC) อาคารศูนย์ FMC ชั้น 1 กรมประมง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทย - สหรัฐอเมริกา (ฝ่ายไทย) เป็นประธานการประชุมในด้านการป้องกัน (Prevention) ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กรมประมง และกรมการปกครอง ให้การต้อนรับนางสาว Caitlin Heidenreich เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ (TIP Office) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หารือความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ปี 2565 - 2566

พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งดำเนินคดีค้ามนุษย์ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวนช่องทางออนไลน์ ทำให้ในปี 2565 ดำเนินคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 230 คดี รวมทั้งขยายผลดำเนินคดีอาญาและทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 21 ราย โดยมีคำสั่งให้พักราชการ 1 คน ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย จำนวน 3 คน และอยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัย 17 คน

...

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะใน TIP Report ของสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เป็นโครงการสำคัญ หรือ Flagship อาทิ จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (ดอนเมือง) เพื่อใช้เป็นสถานที่คัดกรองและคัดแยกผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การตั้งศูนย์บูรณาการคัดแยก 10 จังหวัดนำร่องของมหาดไทย จัดทำขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติ (SOP) ในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน กลไกการส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (National Referral Mechanism) และกิจกรรมช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) แก่บุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ACTIP) และแผนปฏิบัติอาเซียน (APA) ยิ่งไปกว่านั้น ได้ให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP โดยกระทรวงแรงงานกำหนดนโยบายส่งเสริมให้ สถานประกอบการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ไปใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ภายใต้มาตรการ 4 ไม่ (ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการค้ามนุษย์) 6 มี (มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงาน มีเสรีภาพในการสมาคม มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายจ้าง มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย มีการจัดการสุขอนามัยและของเสีย มีสวัสดิการที่เหมาะสม)

ในตอนท้าย นางสาว Caitlinฯ กล่าวชื่นชมบทบาทของไทยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งพล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ ได้ขอบคุณ และเน้นย้ำว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะของรายงาน TIP Report 2022 และมีโครงการสำคัญหลายประการที่รัฐบาลได้ริเริ่ม (Flagship) เชื่อมั่นว่ารัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะได้รับการจัดระดับเป็น Tier 1 อย่างแน่นอนในปีหน้านี้.