เมื่อวานนี้ผมหยอดไปนิดนึงเรื่อง “เกษตรและอาหาร” หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำเสนอต่อ ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปก จนคลอดออกมาเป็น Bangkok Goals on BCG Economy โดยคำว่า BCG ย่อมาจาก B คือ Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ C คือ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G คือ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่พัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ตลอดสัปดาห์แห่งการประชุม 21 ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก เราได้ยินท่านนายกฯพูดแต่คำย่อ BCG แต่ไม่ได้ยินท่านพูดถึงรายละเอียด คนไทยจะได้ประโยชน์อะไร จากการที่ไทยทุ่มทุนเป็นเจ้าภาพหลายพัน ล้านบาทในเวลาเพียง 2 วัน

ผมจะยกตัวอย่าง โมเดลเศรษฐกิจ BCG มาให้ดูสักตัวอย่าง เช่น การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบโรงเรือน การเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรด้วยการดึงสาระสำคัญหรือคุณสมบัติพิเศษออกมาเปลี่ยนจากการ “ขายเป็นตัน” มาเป็นการ “ขายเป็นกิโลกรัม” หรือ “กรัม” เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร เช่น สารสกัดจากข้าว ราคา 2,400 บาท/กก. สารสกัดแคปไซซินจากพริก 30,000 บาท/กก. ไปจนถึง การนำสินค้าเกษตรไปผลิตเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารฟังก์ชัน เช่น อาหารท่ีช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน บำรุงสมอง ลดความเสื่อมของระบบต่างๆภายในร่างกาย เป็นต้น นี่คือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของแท้

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาพัฒนาประเทศไทยไปมากน้อยแค่ไหน จึงกล้านำเสนอต่อ 21 ผู้นำเขตเศรษฐกิจโลก เพื่อให้นำกลับไปพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจโลก เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืน?

...

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธานประชุมผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปก ครม. พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งอนุมัติ งบประมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ชาวนา) ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 18,700 ล้านบาท พ่วงมาตรการคู่ขนาน เงินช่วยเหลือต้นทุนการปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ วงเงิน 55,083 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 81,265.90 ล้านบาท โครงการประกันราคาข้าวและช่วยเหลือต้นทุนการผลิตนี้ทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้วในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งนี้ คุณอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกสำนักนายกฯ แถลงด้วยความปลื้มว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ริเริ่มนำ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” มาขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยประมาณ 2 ปี แล้ว สามารถเห็นผลที่เป็นรูปธรรม สอดรับกับ “เป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” ที่ประเทศไทยได้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเอเปกในครั้งนี้

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสจาก สถาบันคลังสมองแห่งชาติ ให้ความเห็นกับ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ว่า ภาพรวมการประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลทำมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว ไม่มีลูกเล่นใหม่ นโยบายที่ดี หากทำปีแรกไปแล้ว ปีที่ 2 จะต้องปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาพรวมอุตสาหกรรมต้องดีขึ้น แต่กลายเป็นว่า โครงการได้ถูกใช้ในการหาเสียงเป็นหลัก ไม่ได้มองในแง่การแข่งขัน หรือทำให้เกษตรกรยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ นโยบายประกันรายได้ จึงเป็นการ “แช่แข็งเกษตรกร” ให้ติดอยู่กับ “กับดักรายได้ตํ่า”

เราจึงได้เห็นเกษตรกรมีการ “แตกครัวเรือน” เพื่อรับประโยชน์จากโครงการ ข้อมูลปี 2557 มีชาวนาอยู่ 3.4 ล้านครัวเรือน แต่ปี 2565 มีชาวนาเพิ่มเป็น 4.675 ล้านครัวเรือน ผลตามมาคือ ผลผลิตข้าวไทยยังตํ่า สู้เวียดนามไม่ได้

นี่คือ ความชั่วร้ายทางการเมือง ที่เกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าเล่าในประเทศไทยมาเป็นสิบๆปี ถ้า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG ไทย” เป็นแบบนี้คงไม่มีชาติไหนอยากนำไปใช้แน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”