เอกสารแถลงการณ์ ระดับรัฐมนตรีเอเปก ครั้งที่ 33 ที่สามารถบรรลุฉันทามติ เพื่อการขับเคลื่อนเอเปกไปข้างหน้า และยังคงมีความหมายภายใต้ความกังวลและความเป็นห่วงร่วมกัน ในการที่จะรับมือกับความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นอกจาก เศรษฐกิจในโมเดล ECG ที่เน้นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว สถานการณ์ที่กระทบกับเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ สงครามในยูเครน ซึ่งได้ข้อยุติที่ว่า เป็นเรื่องของความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ในเชิงของสังคม อธิปไตยและสิทธิมนุษยชน พยายามที่จะหลีกเลี่ยงและไม่มีการพูดถึง รวมทั้งเรื่องผลกระทบจาก วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 การจัดทำเขตการค้าเสรีในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ที่มีการเจรจาต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปียังตกลงกันไม่ได้
เพราะฉะนั้น การเชื่อมต่อทุกมิติ เปิดกว้างสำหรับโอกาสทั้งหมด และสมดุลในทุกมิติ จึงเป็นวลีในเวทีระดับสากลมากกว่า เช่นเดียวกับ โมเดลธุรกิจ BCG ที่ต้องการให้บรรลุการครอบคลุมแบบสมดุลและยั่งยืน จากวิกฤติโควิด-19 วิกฤติพลังงาน จึงเป็นอะไรที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพ
...
เมื่อเทียบกับความชัดเจนของผู้นำประเทศต่างๆ เช่น เอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ที่พูดถึงจุดเปลี่ยนอันเนื่องมาจากวิกฤติ 3 ประการคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ปะทุต่อเนื่องจาก วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เกิดวิกฤติอาหารและพลังงาน เป็นการรุกรานที่ละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศ ที่กลายเป็นวิกฤติโลก รวมทั้งการเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆส่งผลกระทบต่อระเบียบโลก การค้าการลงทุน ซึ่งความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐฯกับจีน ผลักให้หลายประเทศ ตกอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างใด ในขณะที่เราต้องการระเบียบโลกที่เป็นหนึ่งเดียว สุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายและโอกาสสำหรับโลกและผู้นำธุรกิจที่จะร่วมมือกันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้
สิ่งที่ มาครง เรียกร้องในเวทีเอเปกคือ การพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมและความไร้เสถียรภาพ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก คือการสร้างความสมดุลอย่างมีพลวัต
ที่ถูกจับตาคือ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เน้นย้ำถึงพันธสัญญาของสหรัฐฯในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจ และความเป็นหุ้นส่วนอย่างทั่วถึงใน ภูมิภาคอินโด–แปซิฟิก ที่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯอย่างมาก สหรัฐฯจะไม่ห่างหายไปไหน รัฐบาลภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ริเริ่มแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ๆมากมาย ในจำนวนนี้คือ ยุทธศาสตร์อินโด–แปซิฟิก มีเป้าหมายในการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม สหรัฐฯบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าดิจิทัลกับญี่ปุ่น ครอบคลุมทั้งธุรกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ และ สหรัฐฯ ยังจะสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่กำลังพัฒนา
รัฐบาลสหรัฐฯยึดมั่นในการที่จะเพิ่มทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี
และที่ถูกจับตามากที่สุดคือ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนกับบทบาทในเวทีเอเปก ซึ่งได้สร้างความชัดเจนในทิศทางและยุทธศาสตร์ของจีนใน ที่ประชุม G 20 มาแล้ว แต่เวทีเอเปกกลับไม่มีอะไรชัดเจน ทั้งหมดนี้คือคำตอบ มีเอเปกแล้วได้อะไร.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th