การเยือนประเทศไทยของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ “เอเปก” (APEC) ถือเป็นการเดินทางระหว่างประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 3 ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญอย่างยิ่งที่จีน “ยึดมั่น” ต่อประเทศไทยและความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในมุมมองของจีนนั้น “ประเทศไทย” เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุน ต่างชาติ...เนื่องจากสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ความโปร่งใสด้านนโยบาย การเปิดเสรีทางการค้า และทัศนคติที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติ
ดูได้จากตัวอย่างความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญในโครงการ “แถบและเส้นทาง” (BRI) ของจีน และ มีความก้าวหน้าด้านความร่วมมือที่โดดเด่นในหลายด้าน ไทยและจีน มีศักยภาพ ความร่วมมือ ในการเร่งการแปลงอุตสาหกรรมให้เป็นดิจิทัล และอุตสาหกรรมดิจิทัล และส่งเสริมการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัล และภาคเศรษฐกิจจริง
จากรายงานต่อการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจีนเน้นย้ำว่าในการสร้างความเติบโต ทางเศรษฐกิจ จีนจะต้องให้ความสำคัญกับ “ภาคเศรษฐกิจจริง” และพัฒนา อุตสาหกรรมใหม่ต่อไป พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเร่งการพัฒนา เศรษฐกิจดิจิทัล บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจจริง และสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีการแข่งขันในระดับสากล
...
นับตั้งแต่ปี 2559 รัฐบาลไทยได้นำเสนอยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจที่เน้นมูลค่า แสดงให้เห็น “ความสำคัญ” ในการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัล...ให้เข้ากับภาคเศรษฐกิจจริงในอุตสาหกรรม 10 ประเภทหลักของยุคนี้
อันประกอบไปด้วย 1.ข้อมูลข่าวสาร 2.หุ่นยนต์และการคำนวณ 3.อะไหล่การบินและอวกาศ 4.วิศวกรรมทางทะเล 5.ระบบรางรถไฟ 6. พลังงานใหม่และการประหยัดพลังงาน 7.อะไหล่ด้านพลังงาน 8.วัสดุใหม่ 9.เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ และ 10.เครื่องจักรทางเกษตรกรรม
“การผลิต” เป็นหนึ่งในกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ระบบ “การผลิตอัจฉริยะ” จึงเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความ สำเร็จของอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 บริการคลาวด์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเป็นวิธีการหลักในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านดิจิทัลระหว่างกัน นับวันยิ่ง ปรากฏชัดมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงาน HUAWEI CONNECT 2022 ซึ่งเป็นงานแฟล็กชิปประจำปี ครั้งที่ 7 ของบริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ “หัวเว่ย” (Huawei) จัดที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้ธีม ปลดปล่อยความเป็นดิจิทัล...Unleash Digital
มีการระดมผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญ และพันธมิตรในอุตสาหกรรมไอซีที กว่า 10,000 รายจากทั่วโลก เพื่อสำรวจวิธีการปล่อยผลผลิตทางดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่แข็งแกร่งขึ้น หัวเว่ยยังได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดตั้งบริษัทออกแบบอุตสาหกรรมในรูปแบบของการร่วมทุน
เช่นเดียวกับบริษัท “เทนเซ็นต์” (Tencent) เจ้าของแอปพลิเคชัน “วีแชท” (WeChat) ที่ถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนอีกราย ยังมีการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลสองแห่งในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ไว้รับรองประสิทธิภาพการประมวลผลข้อมูลและเทคโนโลยีการประมวลผล แบบคลาวด์ ศูนย์ทั้งสองแห่งในภูมิภาคนี้ได้สร้างการสำรองข้อมูลที่ดีขึ้น สำหรับผู้ใช้งาน ให้การรับประกันสำหรับความปลอดภัยทางธุรกิจและความต่อเนื่อง
จากการอนุมัติขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กลุ่มธุรกิจทิพย์รัฐ ได้เป็นหุ้นส่วนกับ Tencent Cloud เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม ภูเก็ต ออร์กาไนเซชั่น เซอร์วิส แคร์ POCC Central Management เพื่อใช้ เป็นมาตรการเชิงรุกและตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19
การดำเนินงานของแพลตฟอร์มถือเป็นทางออกทางด้าน “ดิจิทัล” ถูกนำมาใช้เก็บข้อมูลลงทะเบียนผู้ติดเชื้อ แยกแยะผู้ติดเชื้อที่มีอาการเบาไปหาหนัก จัดการข้อมูลสาธารณะต่างๆที่เกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมดก็เพื่อรักษาไว้ซึ่ง “ความเชื่อมั่น” ที่จะทำให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าใคร
หรือการที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจจากไทย เริ่มให้ความสนใจ “เว่ยซิน มินิโปรแกรม” (Weixin Mini Program) ระบบอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศผ่านแอปพลิเคชันวีแชท เพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจ
โดยระบบดังกล่าวจะมีลักษณะวันสต็อปเซอร์วิส...ครบจบในที่เดียว ตั้งแต่เลือกซื้อสินค้า ทำธุรกรรม และได้รับบริการหลังการขาย ช่วยให้ขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อลูกค้าชาวจีนจำนวนมหาศาลได้สะดวกมากขึ้น ยกตัวอย่างบิ๊กซีก็มีการรุกตลาดจีนผ่านระบบดังกล่าวไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ก็เนื่องจากจีนเล็งเห็น “ศักยภาพ” ของประเทศไทย ในการก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เฉพาะอย่างในช่วงสถานการณ์ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รายงานจากสำนักข่าวซินหัวระบุว่า ประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าการจ่ายเงินทางโทรศัพท์มือถือ สังคมไร้เงินสด การเข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซขายสินค้าออนไลน์ การส่งผ่านข้อมูลผ่านระบบคลาวด์
และเทคโนโลยีจากจีนก็ได้รับโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของ “การเดินทางสู่ดิจิทัล” ครั้งนี้ของประเทศไทย ซึ่งยังรวมถึงการติดตั้งเครือข่าย 5G ระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ ไปจนถึงโครงการฟาร์มโซลาร์ ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอนาคต
จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าการใช้ดิจิทัลเติบโตมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาดังกล่าว และประเทศไทย ก็มีเป้าหมายในการทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลครองสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ภายในระยะเวลา 5 ปี
สำหรับธีมของการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพคือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ในฐานะที่เป็นผู้จัดงานที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้การต้อนรับผู้นำระดับชาติหลายสิบคนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่แน่นอนย่อมมีคำถามที่จะตามมามากมาย
ไม่ว่าข้อสงสัยอย่างเช่น ไทยจะทำเช่นไรในการอำนวยความสะดวกในการค้าและการลงทุนแบบเปิด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อที่จะมารองรับการเดินทางข้ามพรมแดนที่หวนกลับมา
แผนกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและภาคบริการ การอำนวยความ สะดวกในการเคลื่อนย้ายธุรกิจ การเพิ่มการลงทุนด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นของผู้ประกอบการ... ไปจนถึงการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนควบคู่ไปกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
ไอเดียในการจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ และเปิดตัวศักราชใหม่ภายหลังสถานการณ์โรคระบาดในเอเชีย–แปซิฟิกและที่อื่นๆทั่วโลกนั้น “การสร้างความเป็นดิจิทัล” และ “นวัตกรรม” ถือเป็นปัจจัยดำเนินการ ที่จะขาดไม่ได้เลย.