“พล.อ.ประยุทธ์” หารือประธานาธิบดีเวียดนาม โอกาสเยือนไทยเป็นทางการ ส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน พร้อมผลักดันศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัล ก่อนเป็นสักขีพยานลงนามความตกลง 5 ฉบับ 

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit) ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนาม ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เชิญไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม และหารือความร่วมมือเต็มคณะในเวลา 16.25 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ซึ่งผู้นำทั้งสองร่วมกันหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีเวียดนามและคณะผู้แทนที่เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เป็นการเยือนไทยครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นการเยือนไทยของประมุขแห่งรัฐของเวียดนามครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งไทยและเวียดนามจะต้องจับมือกันเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็ง ยินดีที่ทั้ง 2 ประเทศจะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยเฉพาะโอกาสที่ปีหน้าจะครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

...

ขณะที่ ประธานาธิบดีเวียดนามขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยที่ให้การต้อนรับอย่างเป็นเกียรติและเปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรีที่อบอุ่นของความเป็นพี่น้องกัน ที่ผ่านมาเวียดนามและไทยได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมขึ้นในหลายๆ ด้าน ไทยคือเพื่อนที่ใกล้ชิดที่เวียดนามให้ความสำคัญสามารถหารือเพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมือ สร้างสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งในกรอบของอาเซียน ภูมิภาคและโลก พร้อมยินดีกับการเป็นเจ้าภาพเอเปก (APEC 2022) ของไทย ซึ่งเวียดนามยินดีสนับสนุนความร่วมมือเพื่อให้การประชุมเอเปกครั้งนี้ประสบความสำเร็จ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนามได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านคมนาคม อีกทั้งในอนาคตทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเงิน e-Commerce ด้าน 5G และ 6G

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทาง Three Connects ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานหรือ supply chain ในอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลกัน, 2. การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากและท้องถิ่น โดยเฉพาะระหว่างภาคอีสานของไทย กับภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนาม และ 3. การเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน ผ่านการประสานนโยบายระหว่าง โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของเวียดนาม ซึ่งประธานาธิบดีเวียดนามเห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีไทย และยินดีที่จะส่งเสริมผลิตผลข้าวเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค รวมไปถึงด้านการพัฒนาและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมต่อยอดความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมากขึ้น และด้านความเป็นหุ้นส่วนในอนุภูมิภาคและภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ไทยอยู่ระหว่างการหาเสียงให้จังหวัดภูเก็ต เป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษในปี 2028 เชื่อมั่นว่างาน Expo 2028 Phuket จะเป็นเวทีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งประธานาธิบดีเวียดนามยินดีสนับสนุนไทยในการเลือกตั้งในกรอบองค์การนิทรรศการโลก (BIE) ในเดือนมิถุนายนของปีหน้า (2566) ที่กรุงปารีส ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ยังอวยพรและเป็นกำลังใจให้ประธานาธิบดีเวียดนามประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ และขอให้ประธานาธิบดีเวียดนามซึ่งเป็นมิตรแท้ของไทยช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามให้แน่นแฟ้นและก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ต่อมาในเวลา 18.05 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลง 5 ฉบับ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีเวียดนาม ซึ่งความตกลง 5 ฉบับ ได้แก่ 

1. แผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งไทย - เวียดนามในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2565-2570) 
2. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันในคดีแพ่ง 
3. บันทึกความเข้าใจเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างราชอาณาจักรไทยกับนครดานัง 
4. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม
5. สัญญาสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ (EXIM Bank) กับธนาคารพาณิชย์เพื่อการค้าระหว่างประเทศแห่งเวียดนาม 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงว่า เป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับประธานาธิบดีเวียดนามในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยการเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไทย เวียดนาม และประเทศในภูมิภาคต่างกำลังเผชิญความท้าทายทางการเมืองและเศรษฐกิจจากความผันผวนในสถานการณ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศกำลังเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทั้ง 2 ประเทศจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนการเร่งฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ย. 2565) จะมีกิจกรรมทางธุรกิจไทย-เวียดนาม นักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศจะมารวมตัวกันกว่า 300 คน ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะเปิดศักราชใหม่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในโอกาสที่จะครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในปีหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และจะประสานงานเพื่อจัดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ครั้งที่ 4 ที่เวียดนาม

จากการหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีเวียดนาม มีประเด็นสำคัญร่วมกัน โดยมีผลลัพธ์ที่สำคัญ ประกอบด้วย ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาและประชาชน ด้านความท้าทายในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนามเยี่ยมชมการจัดแสดงผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและหัตถศิลป์ของไทยและนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก.