ความหวังที่จะเห็นการยุติสงครามกลางเมืองในพม่า ต้องหลุดลอยไปอีกครั้ง ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกรุงพนมเปญที่ผ่านมาแทบจะไม่มีใครพูดถึงปัญหาพม่า มีแต่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาลทหารพม่าให้ฟังเสียงประชาชน และเข้าสู่ ประชาธิปไตยทันที

เลขาธิการยูเอ็นไม่ได้ร่วมประชุมอาเซียน แต่ได้ออกแถลงการณ์ว่า สถานการณ์พม่า เป็นฝันร้ายที่ไม่จบสิ้นสำหรับชาวพม่า เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ทุกฝ่ายต่างล้มเหลวเรื่องพม่า ไม่ว่าจะเป็นประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติ รัฐบาลทหารพม่าเมินเฉยฉันทามติ 5 ประการ

ฉันทามติ 5 ข้อ เป็นแผนนำพม่ากลับสู่สันติภาพ เป็นข้อตกลงระหว่างอาเซียนกับรัฐบาลทหารพม่า เช่น ให้ยุติการใช้ความรุนแรง และเปิดเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลทหาร กับรัฐบาลประชาธิปไตย ที่ถูกยึดอำนาจ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐประหารสัญญาว่าจะให้เลือกตั้งภายใน 1 ปี แต่เป็นแค่สัญญา

แม้วันเวลาจะผ่านมาเกือบ 2 ปี รัฐบาลทหารก็ยังเมินเฉยอยู่ ซ้ำยังมีการปราบปรามประชาชนที่ลุกฮือขึ้นมาขับไล่ กลายเป็นสงครามการเมืองย่อมๆ เลขาธิการยูเอ็นเป็นผู้นำระดับโลกคนแรก ที่เรียกร้องตรงไปตรงมา ให้รัฐบาลเผด็จการเข้าสู่กระบวนการเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในทันที แต่เชื่อว่าจะถูกเมินเฉย

ประชาคมโลกที่อยากเห็นความสงบสุขในพม่า คงจะต้องผิดหวังต่อไปบางฝ่ายอาจมีความหวัง เมื่อมีการเปลี่ยนประธานอาเซียน จากกัมพูชาเป็นอินโด นีเซีย ในปี 2566 เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่เอาจริงเอาจังในการต่อต้านเผด็จการ ส่วนกัมพูชา นายกรัฐมนตรีครองอำนาจมาเกือบ 30 ปีแล้ว

อินโดนีเซียกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ เคยกดดันรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งขัน เพื่อนำประเทศสู่การเจรจา เพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ไม่สัมฤทธิผล เชื่อว่าอินโดนีเซียจะรุกหนักต่อไป หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียน ส่วนประเทศไทยถูกมองว่าไร้อำนาจต่อรองบนเวทีโลก

...

เป็นเสียงวิจารณ์ของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผ่านหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อพม่ายาวที่สุด ผู้นำทางการเมืองอาจมีแนวคิดอำนาจนิยมคล้ายกับรัฐบาลไทยก็สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร แต่ไทยไม่สามารถเกลี้ยกล่อมผู้นำพม่า ให้ยึดแนวทางสันติ อำนาจนิยมย่อมเข้าใจอำนาจนิยมหรือมิใช่?