รมว.คลัง เผย ครม.เห็นชอบขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท ต่อไปอีก 2 เดือน จนถึง 20 ม.ค. 66 ชี้ บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 - 20 มกราคม 2566 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวนทั่วโลก
ทางด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กรมสรรพสามิตตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน จึงมีการขยายมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2565 แต่ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศยังสูงอยู่จนกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนและภาคธุรกิจ
“กรมสรรพสามิตเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้มาตรการทางภาษีไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยไม่ให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจภาพรวม ด้วยน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนของการผลิตและการขนส่งของทุกภาคอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิตจึงเสนอ ครม.พิจารณาขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลออกไปจนถึงวันที่ 20 มกราคม 2566”
...
สำหรับการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในครั้งนี้เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้กลไกทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมสามารถเดินหน้าต่อได้ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า กระทรวงการคลังได้จัดประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งมาตรการภาษีครั้งนี้ระยะเวลา 2 เดือน คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจนกระทบต่อค่าของชีพของประชาชนซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้.